ถอดบทเรียนนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการประชารัฐสวัสดิการ

23 ต.ค. 2560 | 23:45 น.
TP12-3307-C บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความ aBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “ถอดบทเรียนนโยบายไฟฟ้าฟรี สู่โครงการประชารัฐสวัสดิการ” เผยแพร่ใน website ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (https://www.pier.or.th/)

โดยได้หยิบยกเอาบทเรียนที่ได้จากการวิเคราะห์มาตรการไฟฟ้าฟรีของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเปิดประเด็นในการออกแบบสวัสดิการที่ผู้กำหนดนโยบายควรคำนึงถึง เพื่อปรับปรุงสวัสดิการของรัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งนโยบายไฟฟ้าฟรีเป็นนโยบายที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2551 โดยเริ่มจากการเป็นมาตรการชั่วคราวเพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในช่วงที่เศรษฐกิจตกตํ่า และกลายมาเป็นมาตรการถาวรเมื่อกลางปี 2554 โดยได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การอุดหนุนหลายครั้ง

ทั้งนี้ ผลศึกษาดังกล่าว ได้สรุปไว้ว่า ประสบการณ์จากมาตรการไฟฟ้าฟรี บ่งชี้ว่ากลไกการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิที่อ้างอิงกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าและขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้านั้น มีจุดแข็งคือสามารถเข้าถึงครัวเรือนรายได้น้อยได้อย่างครอบคลุม เนื่องจากครัวเรือนเกือบทั้งหมดในประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้ และระดับการใช้ไฟฟ้ามีความสัมพันธ์กับระดับรายได้ค่อนข้างสูง นอกจากนี้การปรับปรุงเกณฑ์การคัดกรองโดยอิงกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าอาจช่วยให้สามารถควบคุมภาระการอุดหนุนมิให้การรั่วไหลไปยังครัวเรือนนอกกลุ่มเป้าหมายได้ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามการใช้เกณฑ์คัดกรองที่อิงกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวก็อาจทำให้ครัวเรือนยากจนบางส่วนตกหล่นและไม่ได้รับสิทธิ์ โดยเฉพาะครัวเรือนยากจนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ครัวเรือนยากจนที่เช่าบ้านพักอาศัยและไม่ได้เป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า และครัวเรือนยากจนที่มีขนาดใหญ่

เมื่อพิจารณานโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 (บัตรผู้มีรายได้น้อย) ผู้เขียนเห็นว่ามีจุดแข็งหลัก คือ การจัดทำฐานข้อมูลลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ลงทะเบียนทั้ง 14.1 ล้านคนอย่างละเอียด จึงมีศักยภาพในการนำข้อมูลต่างๆ ของผู้ลงทะเบียนมาใช้คัดกรองผู้ได้รับสิทธิให้แม่นยำขึ้น อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเกณฑ์ที่ใช้คัดกรองผู้ได้รับสวัสดิการในปี 2560 นั้นอ้างอิงจากรายได้และการถือครองทรัพย์สินเป็นหลัก (ยังไม่ได้ใช้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ ที่รัฐจัดเก็บจากการลงทะเบียน) ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวสามารถทำให้เกิดการรั่วไหลได้ในบางกรณี ตัวอย่างเช่น กรณีผู้ลงทะเบียนที่ไม่ได้อยู่ในระบบฐานข้อมูลของรัฐ เช่น นักเรียน/นักศึกษาจากครอบครัวที่มีฐานะดี แต่ยังไม่เคยเปิดบัญชีธนาคารหรือมีชื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สิน หรือกรณีที่มีการโยกย้ายบิดเบือนข้อมูลรายได้และทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการรับสิทธิ เช่น ข้าราชการเกษียณอายุที่โอนทรัพย์สินให้กับลูกหลานไปแล้ว แต่ยังอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว เป็นต้น

นอกจากนี้สถิติของสภาพัฒน์ระบุว่าในปี 2559 มีประชากรไทยที่อยู่ใต้เส้นความยากจนประมาณ 5.8 ล้านคน ในขณะที่ข้อมูลจากการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยปี 2560 กลับพบว่ามีผู้ลงทะเบียนที่มีรายได้หรือสินทรัพย์ตํ่ากว่าเส้นความยากจนมากถึง 8.4 ล้านคน ซึ่งความไม่สอดคล้องของตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ของการรั่วไหลของสิทธิอันจะนำไปสู่ความบิดเบือนของกลไกและภาระการอุดหนุนในโครงการประชารัฐสวัสดิการที่สูงเกินความจำเป็น

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01 บทเรียนที่ผู้เขียนค้นพบจากการศึกษามาตรการไฟฟ้าฟรีคือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายสามารถสะท้อนระดับความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชากรได้ดีและบิดเบือนได้ยากกว่าข้อมูลรายได้และสินทรัพย์ ดังนั้นในยุค Big Data ที่การเก็บและประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วในต้นทุนที่ตํ่า แนวทางหนึ่งในการปรับปรุงวิธีการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิสวัสดิการแห่งรัฐหรือสวัสดิการอื่นๆ คือ การเชื่อมฐานข้อมูลการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยกับฐานข้อมูลอื่นๆ ของรัฐให้มากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย เช่น พฤติกรรมการใช้นํ้า/การใช้ไฟฟ้าของผู้ที่มาลงทะเบียน หรือการใช้บริการทางการเงิน เช่น บัตรเครดิต หรือเดบิต เพื่อใช้เป็นเกณฑ์เพิ่มเติมในการคัดกรองผู้ที่สมควรได้รับสิทธิให้มีความครอบคลุมมากขึ้นและลดการรั่วไหลให้น้อยที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว