LAUSANNE : จากสวิตเซอร์แลนด์สู่สยาม (2)

23 ต.ค. 2560 | 00:19 น.
MP35-3307-B เมื่อ “เจ้าฟ้ามหิดล” สิ้นพระชนม์ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ 2472

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สมเด็จพระพันวัสสาฯ ทรงเห็นว่า “ด้วยสภาพ บ้านเมืองไม่เรียบร้อย อาจมาพัวพันกับพระนัดดาของท่านได้” จึงทรงแนะให้หม่อมสังวาลย์ พาพระธิดา และพระโอรสไปศึกษา ณ ต่างประเทศ และโดยที่พระองค์เจ้าอานันทมหิดลทรงมีปัญหาสุขภาพไม่แข็งแรง การไปต่างประเทศครั้งสำคัญนี้จึงมีเรื่องของการรักษาสุขภาพอนามัย เป็นข้อพิจารณาด้วย

หม่อมสังวาลย์มีความคิดว่าควรไปอยู่ในประเทศที่มีอากาศสบายๆ และความที่เคยอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกามาก่อน รู้จักดีและชอบ แต่ “เสด็จลุง” กรมขุนชัยนาทนเรนทรไม่ทรงเห็นด้วย ท้ายสุดหม่อมสังวาลย์ก็เลือกประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งได้ให้ความทรงจำที่ดีและเคยมีความสุขกับเมืองโลซานน์ (LAUSANNE) ด้วยอากาศดี อาหารดีต่อสุขภาพ

“แม่ทรงเป็นครูที่ดีเลิศ” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเคยตรัสชมยกย่อง หม่อมสังวาลย์สอนพระโอรสพระธิดาในเรื่องของระเบียบ วินัย การสวดมนต์ ความมีจิตใจดี นึกถึงผู้อื่น การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ฯลฯ

MP35-3307-1B บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญชิ้นหนึ่ง จากพระนิพนธ์สมเด็จฯกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ที่ได้บันทึก “ความกล้าหาญ” และมี “วิสัยทัศน์” ของหม่อมสังวาลย์ ที่ได้ตอบคณะผู้แทนรัฐบาลที่เสนอให้พระองค์เจ้าอานันทมหิดลทรงออกจากโรงเรียนแล้วให้พระอาจารย์มาถวายพระอักษร ณ ที่ประทับ

หม่อมสังวาลย์เขียนกราบทูลสมเด็จพระพันวัสสาฯไปในจดหมาย “... พระเจ้าแผ่นดินก็จำเป็นมากที่จะต้องปะปนกับคนอื่น จะได้รู้จักนิสัยคนทั่วไป จะเป็นประโยชน์สำหรับบ้านเมืองที่มีการปกครองอย่างประชาธิปไตย...”

การตัดสินใจเลือกมาพำนักในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นับเป็นการตัดสินใจที่ถูก โดยเฉพาะแม้สงครามโลกจะขยายไปทั่วยุโรป แต่ “ความเป็นกลาง” ทำให้สวิตเซอร์แลนด์ไม่โดนผลกระทบรุนแรงจากสงคราม

หม่อมสังวาลย์ได้จ้าง “ครู” มาช่วยสอนการบ้านพระโอรสทั้ง 2 พระองค์

MP35-3307-2B นายเคลยอน เซอรายดาริส (CLEON C SERAIDARIS) ครูส่วนพระองค์ท่านนี้ได้ทิ้งอาชีพนักกฎหมายเพื่อมาถวายพระอักษร และยังทำหน้าที่เหมือนครูประจำบ้าน พาเจ้าชายทั้ง 2 พระองค์ไปทรงจักรยาน กรรเชียงเรือ ว่ายนํ้า ทรงสกี และโดยที่ครูเคลยอนมีฝีมือทางช่างไม้ ลูกศิษย์จึงได้รับการถ่ายทอด

ในบรรดา “ข้อแนะนำ” ที่ ถวายแด่ “เจ้านาย” มีเรื่องหนึ่งที่มีคุณค่ามากต่อยุวกษัตริย์ไทย นั่นคือ แนะนำโรงเรียนแนวใหม่ (ในขณะนั้น) ให้ “เจ้านาย” ทั้ง 2 พระองค์เข้าศึกษา โดยที่เจ้าตัวเป็น ศิษย์เก่าของโรงเรียนมีชื่อแห่งนี้

ECOLE NOUVELLE DE LA SUISSE ROMANDE แปลตรงๆก็ได้ความว่าเป็นโรงเรียนใหม่ (ECOLE NOUVELLE) ทั้งที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1906 (พ.ศ. 2449)

MP35-3307-3B ที่ว่าใหม่คือ ไม่ได้สอนแต่ครูถ่ายทอดบนกระดานหน้าชั้น หากยังพานักเรียนลงไปไร่นา ป่าเขา สอนให้รักการเกษตร การฝีมือ รักสัตว์ และรักเพื่อนมนุษย์

ยุโรปขณะนั้นอยู่ในภาวะสงคราม ผู้คนหลายชาติหลายภาษาอพยพหนีภัยเข้าประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่เป็นกลาง ค่อนข้างปลอดภัย คนสวิสจะต้องมีความเมตตากรุณาอดทนรับเพื่อนแปลกหน้า

เพชรดีอย่าง “เจ้านายไทย” ทั้ง 2 พระองค์ ยังได้โรงเรียนดีที่สุดของสวิส ของยุโรป เจียระไน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว