“ญี่ปุ่น” แชมป์ลงทุนในไทย! หนุน SMEs ปักฐานเพิ่ม

23 ต.ค. 2560 | 10:01 น.
นายฮิโรคิ มิทสึมะตะ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร กรุงเทพฯ เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นยังคงครองแชมป์ผู้ลงทุนอันดับ 1 ในประเทศไทยตลอด 3 ปีติดต่อกัน (คือ ปี 2557-2559 ส่วน 6 เดือนแรกของปี 2560 ญี่ปุ่นก็ยังมาเป็นที่ 1 เช่นกัน) เมื่อมองในแง่จำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

โดยในปี 2559 มีโครงการของบริษัทร่วมทุนญี่ปุ่นที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมจากบีโอไอถึง 284 รายด้วยกัน คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 7.9 หมื่นล้านบาท นำห่างบริษัทร่วมทุนจากจีนที่ตามมาเป็นอันดับ 2 และอันดับ 3 คือ สิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในสายตาของบริษัทญี่ปุ่นที่ยังคงแข็งแกร่ง

“ไม่ว่าไทยจะผ่านสถานการณ์การเมืองมาอย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นจุดเด่นและนักลงทุนญี่ปุ่นให้ความสนใจอย่างมาก คือ ความต่อเนื่องของนโยบายทางเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเข้ามาลงทุนใช้ไทยเป็นฐานการผลิตมายาวนาน ทำให้เกิดเครือข่ายซัพพลายเชนที่แข็งแกร่งและมีขนาดใหญ่ เมื่อมีการลงทุนใหม่เข้ามาก็สามารถต่อยอดธุรกิจได้เลย ไม่ต้องเข้ามาสร้างฐานการผลิตโดยเริ่มต้นใหม่จากศูนย์”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยกับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ ยังพบว่า การลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่น (FDI) ในอุตสาหกรรมภาคการผลิต ยังคงพุ่งมาที่ประเทศไทยมากเป็นอันดับ 1 (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2559) คิดเป็นมูลค่ารวม 34,131 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามมาด้วยอินโดนีเซียและสิงคโปร์เป็นอันดับ 2 และ 3

แต่ถ้าเป็นการลงทุนโดยตรงของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมภาคบริการ หรือ อุตสาหกรรมนอกภาคการผลิต ไทยมาเป็นอันดับ 2 (มูลค่าการลงทุนรวม 19,430 ล้านดอลลาร์) รองจากสิงคโปร์เท่านั้น สะท้อนให้เห็นชัดว่า ไทยเป็นหุ้น ส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้

และที่น่าสนใจ ก็คือ บริษัทที่อยู่ในกลุ่มบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จากญี่ปุ่น ได้ให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นถึง 432 บริษัท (เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนในปี 2557) ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น 404 บริษัท ทำให้ทางเจโทรเองมีกิจกรรมส่งเสริมการขับเคลื่อนของเอสเอ็มอีญี่ปุ่นในไทยอย่างต่อเนื่อง เช่น ในวันที่ 24 พ.ย. ศกนี้ เจโทรจะจัดประชุมว่าด้วยอุตสาหกรรมภาคบริการที่กรุงเทพฯ โดยจะเน้นไปที่ธุรกิจท่องเที่ยว จะมีการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างเอสเอ็มอีญี่ปุ่นและอาเซียนในธุรกิจประเภทนี้ให้มากยิ่งขึ้น และในเดือน พ.ย. เช่นกัน จะมีการนำคณะตัวแทนธุรกิจจาก จ.ยามานาชิ 10 บริษัทมาดูงานโดยนอกจากจะมาร่วมงาน METALEX 2017 ที่กรุงเทพฯ แล้ว ยังจะลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ของไทยด้วย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว