โค้งสุดท้ายเฟ้นประธานเฟด โพลล์ชี้‘เยลเลน’เป็นตัวเลือกดีที่สุด

24 ต.ค. 2560 | 11:18 น.
เป็นประเด็นที่ทั่วโลกยังคงจับตามองกันอยู่ว่า นางเจเน็ต เยลเลน จะยังคงดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ต่อไปอีกหรือไม่หลังจากที่วาระปัจจุบันกำลังจะหมดลงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ปีหน้า และถ้าหากว่าเยลเลนไม่ได้ไปต่อ ใครจะขึ้นมารับตำแหน่งอันทรงอิทธิพลนี้เป็นคนต่อไป

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข่าวออกมาหนาหูว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กับประธานเฟด มีความคิดเห็นไม่ตรงกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมการดำเนินงานของบรรดาสถาบันการเงิน จนกระ ทั่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเจเน็ต เยลเลน คงไม่ได้รับการต่อวาระการดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 แม้ว่าเธอจะ เป็นบุคคลที่มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในวงกว้างก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ประธา นาธิบดีทรัมป์ได้ออกมายืนยันกับสื่อที่ทำเนียบขาวแล้วว่า ชื่อของเยลเลนยังคงอยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ที่มีสิทธิ์ลุ้นตำแหน่งประธานเฟด โดยเขาได้กลั่นกรองรายชื่อเหลือตัวเต็งเพียง 5 คนเท่านั้น

การพบปะระหว่างบุคคลทั้ง 2 กำหนดมีขึ้นในวันที่ 19 ตุลาคม เพื่อประธานาธิบดีจะสัมภาษณ์นางเยลเลนอีกครั้งก่อนการตัดสินใจ ทั้งนี้ เยลเลนได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานเฟดสมัยแรกโดยประธานาธิบดีบารัก โอบามา ในปี 2557 โดยเธอเป็นประธานเฟดคนแรกที่เป็นสตรี เมื่อหมดวาระการดำรงตำแหน่งสมัยแรก เธอมีสิทธิ์ที่จะดำรงตำแหน่งต่ออีกเป็นสมัยที่ 2 ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประธานาธิบดี นอก จากเยลเลนแล้ว ยังมีบุคคลอื่นๆ อีก 4 คนที่ถูกกล่าวถึงว่าคือตัวเต็งที่อาจจะขึ้นมาเป็นประธานเฟดคนใหม่หากนางเยลเลนไม่ได้ไปต่อ

4 คนดังกล่าวซึ่งประธา นาธิบดีทรัมป์ได้สัมภาษณ์เรียบร้อยแล้วได้แก่ นายเจอโรม เพาเวลล์ หนึ่ง ในคณะผู้ว่าการเฟดสมัยปัจจุบัน นายเควิน วอร์ช อดีตผู้ว่าการเฟด และนักการเงินมากฝีมือ ซํ้ายังมีความสนิทสนมกับประธานาธิบดีทรัมป์ นายแกรี่ โคห์น ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติและหัวหน้าที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี และนายจอห์น เทย์เลอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ ผู้ที่จะได้เป็นประธานเฟดคนต่อไปต้องได้รับการพิจารณาและเสนอชื่อจากประธานาธิบดี และต้องผ่านการพิจารณารับรองจากวุฒิสภาก่อน จึงจะสามารถดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ระบุว่า เขาจะตัดสินใจ “ในเร็วๆ นี้” ซึ่งทำให้หลายคนคาดว่า น่าจะเป็นช่วงที่เขาเดินทางเยือนหลายประเทศในเอเชียที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 3 พฤศจิกายน

สื่อท้องถิ่นรวมทั้งเว็บไซต์ Politico ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองในสหรัฐฯได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ล่าสุดเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 ต.ค.) ว่า นอกเหนือจากนางเยลเลน ซึ่งโพลล์สำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์ชี้ว่า คือ “ทางเลือกที่ดีที่สุด” ที่คู่ควรกับตำแหน่งประธานเฟด คนอื่นที่มีความเป็นไปได้สูงว่าน่าจะเป็นตัวเต็งอันดับ 1 คือ นายเจอโรม เพาเวลล์ หนึ่งในคณะผู้ว่าการเฟดสมัยปัจจุบันซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 เขาเป็นอดีตนักกฎหมายและนักการธนาคาร ทั้งนี้ เหตุผลสนับสนุนก็คือ ถ้าจะให้มีความต่อเนื่องมากที่สุดก็ควรจะเป็นการส่งไม้ต่อระหว่างนางเยลเลน และนายเพาเวลล์ซึ่งเป็นลูกหม้อของเฟด “การเปลี่ยนแปลงนโยบายจะสร้างแรงสั่นสะเทือนและทำให้ตลาดเกิดความวิตกกังวล” นักเศรษฐศาสตร์ที่ร่วมตอบคำถามการสำรวจของรอยเตอร์ให้ความเห็น

TP10-3307-A ขณะที่เพาเวลล์เป็นตัวเต็งอันดับ 1 อันดับ 2 รองลงมาคือ “เควิน วอร์ช” ซึ่งเคยเป็นผู้ว่าการคนหนึ่งของเฟดในช่วงที่สหรัฐฯประสบวิกฤติการเงิน (ค.ศ. 2006-2011) มีความคาดหมายกันว่าหากวอร์ช ได้ขึ้นมาเป็นประธานเฟด เขามีแนวโน้มที่จะขยับอัตราดอกเบี้ยมากขึ้นและเร็วกว่าที่เป็นอยู่ ส่วนนายจอห์น เทย์เลอร์ นักเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังสหรัฐฯในสมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เทอมแรก เป็นที่คาดหมายว่าเทย์เลอร์น่าจะมีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าที่เป็นอยู่เช่นกัน นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากก้าวไม่ถึงตำแหน่งประธานเฟด เทย์เลอร์อาจได้เป็นรองประธานเฟดแทนตำแหน่งของนายสแตนลีย์ ฟิชเชอร์ที่กำลังจะว่างลง
อย่างไรก็ตามผลสำรวจชี้ว่า ในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ 40 คนที่เข้าร่วมการสำรวจของรอยเตอร์ เมื่อถามว่าใครคือตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับตำแหน่งประธานเฟด? ส่วนใหญ่หรือ 2 ใน 3 ตอบว่า ถ้าเป็นไปได้ทรัมป์ไม่ควรเปลี่ยนตัวประธานเฟด นั่นหมายถึง เจเน็ต เยลเลน คือตัวเลือกที่ดีที่สุด

ภายใต้นโยบายของเฟดในปัจจุบัน การปรับขึ้นดอกเบี้ยนับว่าช้ากว่าความคาดหมาย และเชื่อว่าภายในปีนี้ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในเดือนธันวาคม ล่าสุดเยลเลนออกมาตอกยํ้าว่า เฟดจะยังคงใช้นโยบายการเงินตึงตัว (tight-money policy) และจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าเพื่อให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯสามารถรักษาอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เยลเลนยังมีความ เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงในช่วงเร็วๆ นี้จะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และเชื่อว่าปีหน้าทั้งดัชนีราคาผู้บริโภคและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯก็จะเริ่มขยับสูงขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว