สถานะ‘Brexit’:กับโอกาสไทย

24 ต.ค. 2560 | 23:15 น.
TP8-3307-C สัปดาห์นี้มีการประชุมสุดยอดระหว่างผู้นำประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งคงจะถกเถียงกันเรื่อง “Brexit” อย่างเข้มข้นแน่นอน เพราะมีรายงานข่าวเป็นระยะเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างสหราชอาณาจักร (สอ.) กับอียู เพื่อตกลงเงื่อนไขต่างๆ ในการออกจากอียูของ สอ.การเจรจาผ่านไป 5 รอบแล้ว ดูจะไม่ราบรื่นนัก

ตามแผนแล้ว การประชุมสุดยอดอียูในสัปดาห์นี้ตั้งใจกันไว้ว่าบรรดาผู้นำน่าจะตกลงกันได้เสียทีว่ามีความคืบหน้าในการเจรจาเพียงพอ โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิของประชาชนอียูใน สอ. การผ่านแดนระหว่าง สอ. กับไอร์แลนด์ และการจ่ายค่า “ซื้ออิสรภาพ” โดย สอ. เพื่อที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะได้เริ่มต้นการเจรจาความสัมพันธ์ด้านการค้าในอนาคตกันเสียที อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ แผนการนี้ดูจะเป็นไปได้ยากเสียแล้ว ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากท่าที สอ. ที่ค่อนข้างจะ “ตระหนี่” กับจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายในการ “หย่า” ครั้งนี้ทำให้อียูยังไม่ตกลงที่จะเริ่มต้นการเจรจาด้านการค้าซึ่งทุกฝ่ายให้ความสำคัญและปัจจัยปัญหาหลักก็คือ แม้แต่ระดับการเมืองสูงสุดของ สอ. ก็ยังไม่สามารถให้ความชัดเจนได้ว่า สอ.ต้องการมีความสัมพันธ์กับอียูในอนาคตอย่างไร

นี่เป็นปัญหาการเมืองภายในของสอ. เอง ที่รัฐบาลปัจจุบันอ่อนแอ แค่บริหารประเทศไปวันๆ ก็อ่วมแล้ว ยังไม่ต้องพูดถึงปัญหาใหญ่เช่นเรื่องการออกจากอียู ความอ่อนแอนี้ส่งผลกระทบออกมาภายนอกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฝ่ายต้องการ Brexit กับฝ่ายที่สนับสนุนการคงสมาชิกภาพอียูยังคงหาจุดยืนร่วมกันไม่ได้ว่าเอาอย่างไรจึงจะดีที่สุด ทำให้รัฐบาล สอ. ไม่อาจมีท่าทีแน่ชัด และอียูประสบความยากลำบากในการเจรจาด้วยอย่างจริงจัง กระทั่งมีผู้มองว่าทั้ง 2 ฝ่ายอาจไม่สามารถเจรจาได้ข้อยุติภายในกำหนดเวลา 2 ปี และ สอ. อาจต้องออกจากอียูโดยไม่มีการตกลงเงื่อนไขระหว่างกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีกับฝ่ายใดเลย

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01 ในความไม่แน่นอนนี้ ไทยเราคงต้องเตรียมตัวให้พร้อมแล้วละครับ อย่าลืมว่าสอ.เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 15 ของไทยในภาพรวม และอันดับ 1 หรือ 2 ในกลุ่มอียู (แล้วแต่ปี) สินค้าจำนวนมากที่ไทยส่งออกไปยังอียู อาทิ เนื้อไก่แปรรูป ใช้ สอ.เป็นช่องทางเข้าสู่ตลาดและเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังประเทศสมาชิกอียูอื่น ดังนั้นผลการเจรจา Brexit จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยจำนวนหนึ่งอย่างแน่นอน และหาก สอ.ออกจากอียูโดยไม่สามารถคงสถานะตลาดร่วมหรือตกลงเงื่อนไขด้านการค้าระหว่างกันได้ รวมถึงการจัดสรรโควตาการนำเข้าสินค้าตามข้อผูกพันที่ไทยได้รับภายใต้องค์การการค้าโลกที่อียูจัดสรรให้ สอ. ประโยชน์ที่ไทยเคยได้รับก็อาจจะหายไป ผู้ส่งออกไปยัง สอ. จึงควรติดตามพัฒนาการของ Brexit เป็นระยะเพื่อหาแนวทางปรับตัว ทั้งในแง่การส่งสินค้าไปประเทศต่าง ๆ ในอียูผ่านช่องทางอื่น (ซึ่งทางเลือกที่ดีที่สุดก็คงเป็นพี่ดัตช์) และการส่งออกไปยังสอ.เอง

ข้อเท็จจริงที่หลีกไม่ได้ก็คือ สอ.เป็นตลาดใหญ่ ในยุโรปเศรษฐกิจ สอ.ใหญ่อันดับ 2 รองจากเยอรมนี และเมื่อออกจาก
อียูแล้ว สอ.คงไม่ต้องการถูกโดดเดี่ยว และย่อมจะมุ่งเจรจาจัดทำหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย เกาหลีใต้ และน่าจะพร้อมเจรจาทวิภาคีกับไทยในเรื่องนี้เช่นกัน ผมมองว่านี่เป็นโอกาสครับ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนน่าจะรีบเตรียมพร้อมเพื่อพลิกวิกฤติ Brexit ให้เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยในอนาคตอันใกล้นี้นะครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว