‘กรมที่ดิน’สู่ยุค4.0 ยกเครื่องบริการงานรังวัดผ่านออนไลน์

25 ต.ค. 2560 | 05:27 น.
จากยุทธศาสตร์ประเทศ ไทย 4.0 กรมที่ดิน ได้ให้ความสำคัญทั้งการลงทุน นำนวัตกรรม การออนไลน์เชื่อมข้อมูลให้บริการต่างสำนักงาน และโดยเฉพาะการยกระดับรังวัดโดยใช้ระบบโครงข่ายดาวเทียม

นายประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในปีงบประมาณ 2561 (1 ตุลาคม 2560-30 กันยายน 2561) กรมที่ดินได้รับการจัดสรรงบประมาณ 6,403 ล้านบาท จำนวนนี้เป็นงบบุคลากรถึง 3,817 ล้านบาทงบดำเนินการ 1,303 ล้านบาทและเป็นงบลงทุน 1,282 ล้านบาท งบลงทุนปีนี้ส่วนใหญ่จะไปเพิ่มในระบบสารสนเทศ

[caption id="attachment_221848" align="aligncenter" width="336"] ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน ประทีป กีรติเรขา อธิบดีกรมที่ดิน[/caption]

++เป้า3ปีออนไลน์ครบ443แห่ง
เรามีข้าราชการอยู่ 11,600 คน นอกนั้นเป็นพนักงาน-ลูกจ้าง รวมทั้งหมดแล้ว 14,000 คน ขณะที่คำร้องที่เข้ามาแต่ละปีมีถึง 11 ล้านคำร้อง ทั้งมาขอแบ่งแยกโฉนด รวมโฉนด สอบแบ่งเขต ขอออกโฉนดใหม่ จำนอง ฯลฯ จึงจำเป็นต้องใช้งบลงทุนเพื่อพัฒนาระบบสารเทศรองรับการให้บริการ ขณะนี้มีสำนักงานที่สามารถออนไลน์ข้อมูลได้สมบูรณ์ 73 แห่ง จากทั้งหมด 443 สำนัก งาน โดยสามารถเข้าถึงข้อมูลของกรมที่ดิน จากเวบไซต์หรือสมาร์ทโฟน เพียงกูลเกิลค้นหาคำว่า “รูปแปลงที่ดิน” จะได้ถึง 6 เรื่อง คือ 1. รูปแปลงที่ดิน เนื้อที่ ตำแหน่งที่ตั้ง 2. ข้อมูลเดินทางไปสำนักงานที่ดิน เบอร์โทรศัพท์ 3. ราคาประเมินบ้าน/แปลงที่ดิน, 4. ค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากร, 5. ค่าใช้จ่ายรังวัด และ 6. คิวรังวัด โดยมีผู้ใช้ประโยชน์ผ่านเวบไซต์แล้ว 11 ล้านราย ทางสมาร์ทโฟนอีกกว่า 3.5 ล้านราย

เป้าหมายกรมที่ดินตั้งไว้ว่า ภายใน 3 ปี จะต้องออนไลน์เชื่อมข้อมูลให้ครบทั้ง 443 สำนักงาน แต่ขณะนี้ทั้ง 443 แห่ง ปัจจุบันสามารถใช้บริการต่างสำนักงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างน้อยใน 3 เรื่องคือ

1. ตรวจสอบหลักทรัพย์ เช่น ท่านเดินไปที่สาขาดอนเมืองไปขอยื่นตรวจสอบหลักทรัพย์ อยากรู้ว่าตัวเองมีที่ดินในจังหวัดเชียงใหม่ กี่แปลงกี่ไร่ อยู่ตรงไหนอย่างไร หรือขอตรวจสอบที่ดินในโคราชที่เป็นของครอบครัวและตัวเองได้รับมอบอำนาจมา ก็สามารถเช็กได้หมด ทั้งที่เป็นโฉนดที่ดิน, น.ส.3 ก, น.ส.3 และหนังสือกรรมสิทธิ์ห้องชุด แต่ทั้งนี้ผู้ขอรับบริการต้องมีสิทธิตามกฎหมาย เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือเป็นพนักงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย โดยเสียค่าธรรมเนียมยื่นคำร้อง 100 บาท

2. ขอราคาประเมินทุนทรัพย์ เช่น ขอราคาประเมินที่ขอนแก่น เพื่อไปใช้เป็นหลักประกันหรือจำนอง ฯลฯ และ 3. ขอสำเนาเอกสารสิทธิ เช่น อยู่กรุงเทพฯ แต่อยากได้สำเนาโฉนดที่อุดรธานี เป็นต้น บริการทั้ง 3 เรื่องดังกล่าว เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ล่าสุดมีผู้ใช้บริการแล้ว 2.1 หมื่นราย

++ลดเวลาคิวรังวัดไม่เกิน50วัน
สำหรับโครงการที่กรมที่ดินจะทำเพิ่มต่อไป คือการนัดคิวรังวัดได้ ยกตัวอย่าง คิวรังวัดอยู่ขอนแก่น แต่มายื่นคำขอที่ดอนเมืองว่า อยากจะขอนัดคิวรังวัดที่อำเภอนํ้าพอง จังหวัดขอนแก่น คิวนัด 27 วัน ท่านก็เพียงกดดูคิวว่าที่นํ้าพองเป็นเมื่อไร อย่างไร และเลือกวันโดยจะไปจองคิวที่สาขาใดก็ได้ ไม่ต้อง ขับรถไปจองให้เสียเวลาเสียเงิน

“เราได้มีการแก้ไขคิวค้างมาอยู่เรื่อยๆ จากไตรมาส 4/2559 มีงานรังวัดค้างอยู่ 1.67 แสนเรื่อง มาเดือนสิงหาคม 2560 เหลือค้างเฉลี่ย 7.5 หมื่นเรื่อง และจากการเร่งรัดงานรังวัดที่ดิน ทำให้ระยะเวลานัดรังวัดจากปีที่แล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 127 วัน ปัจจุบันเฉลี่ยที่ 50 วันเท่านั้น และหากสามารถลดงานรังวัดที่ค้างได้ให้อยู่เฉลี่ยที่ 5 หมื่นเรื่อง นั่นหมาย ความว่าระยะเวลานัดรังวัดจะเฉลี่ยเหลือ 30 วัน เพราะช่างรังวัดทำการรังวัดเฉลี่ยได้คนละ 15 เรื่องต่อเดือนเท่านั้น” อธิบดี กล่าวและว่า

หลังจากเริ่มโครงการเร่งรัดงานรังวัดที่ดินเมื่อปลายปี 2559 โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มดีมากคือระยะเวลาคิวรังวัด 15-60 วัน มี 158 สำนักงาน (แห่ง) ที่ทำได้, กลุ่ม 2 ระยะเวลา 60-90 วัน มี 85 แห่ง และกลุ่ม 3 คือ คิวรังวัดเกิน 90 วันขึ้นไปมี 216 แห่ง โดยเป้าหมายเพื่อยกระดับให้เป็นกลุ่มแรก ล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม 2560 ในกลุ่มแรกมีสำนักงานที่ทำได้เพิ่มเป็น 387 แห่ง ขณะที่กอง 2 และ 3 ลดเหลืออยู่ที่ 65 แห่งและ 8 แห่ง ตามลำดับ (มากสุดคือสำนักงานจังหวัด (สจ.) ปัตตานี จากคิวนัดเดิมเมื่อปลายปี 59 ที่ 700 วันเหลือ 458 วัน)

“การพัฒนาศักยภาพไม่เพียงจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่ม เพราะทำได้เร็ว การเก็บรายได้เข้ารัฐก็เร็วตาม โดยสามารถสร้างรายได้เข้ารัฐในปีงบประมาณ 2560 กว่า 9 หมื่นล้านบาท แต่เป้าหมายที่เราต้องการก็เพื่อป้องกันการทุจริต เพราะความล่าช้าคิวรังวัดมักเป็นเหตุให้เกิดการร้องเรียนและทุจริต”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01 ++ยกระดับรังวัดพิกัดดาวเทียม
อธิบดีกรมที่ดิน ยังกล่าวถึงความคืบหน้า โครงการยกระดับรังวัดที่ดิน ด้วยระบบดาวเทียมแบบจลน์ (RTK GNSS Network) ที่ได้นำร่องไปเมื่อปี 2554 ใน 3 จังหวัด (นนทบุรี, ปทุมธานี และสมุทรปราการ) ปีนี้ได้ยกระดับเพิ่มอีก 15 จังหวัด ส่วนแผนในปี 2561 และปี 2562 ตั้งเป้าไว้ 29 จังหวัด และ 30 จังหวัด ซึ่งจะทำให้การออกโฉนดจัดทำแผนที่โดยใช้ระบบดาวเทียมครบทั้ง 77 จังหวัดได้ภายในปีงบประมาณ 2562

“เราจะเริ่มเฉพาะราย (walk in) ก่อน (ในจังหวัดเป้าหมายที่ติดตั้งสถานีโครงข่ายดาวเทียมแบบจลน์แล้ว) ไม่ว่าจะเข้ามาเพื่อขอแบ่งแยกโฉนด, รวมโฉนด, ขอสอบเขต, ออกโฉนดใหม่ โอนซื้อขายบ้าน เมื่อ walk in เข้ามาจะได้รูปแปลงแผนที่ที่ยึดตามค่าพิกัดดาวเทียมกำหนดตรงตามจริงเลย ที่เรียกว่า ‘แผนที่ชั้นหนึ่ง’ ส่วนแปลงที่เหลือจะเริ่มในโครงการปี 2562 โดยกรมที่ดินจะเดินสำรวจ สอบเขตให้ อาจใช้เวลา 10 ปี” ประโยชน์ที่จะได้รับคือ ไม่ต้องประกาศให้มาชี้แนวเขตเมื่อเป็นแผนที่ ชั้นหนึ่งแล้ว, มีความแม่นยำ ลดระยะเวลาการรังวัดที่ดิน ลดงบประมาณและค่าใช้จ่าย และป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว