ศาสตร์พระราชาตำราของพ่อ (5) วิชาธรรมชาติสามัคคี

22 ต.ค. 2560 | 00:33 น.
MP22-3307-5B วิชา 9 หน้าศาสตร์พระราชาตำราของพ่อ ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ดึง 9 บุคคลผู้มีอิทธิพลทางความคิดในแต่ละแวดวง มาร่วมสืบสานปณิธานพ่อ ผ่านการ นำเสนอใน 9 วิชา ที่ทรงใช้ พัฒนาชีวิตคนไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

Take A trip ฉบับนี้ นำเสนอ “วิชาธรรมชาติสามัคคี” ถ่ายทอดการร่วมสืบสานปณิธานพ่อ โดย“วงศ์ทะนง ชัยณรงค์สิงห์” ผู้ก่อตั้งนิตยสาร A Day และ The Standard นำคุณไปเยือน “โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก” เพื่อเรียนรู้บทพิสูจน์ของ “คนกับป่า”

MP22-3307-3B ใครที่คิดว่าคนอยู่ร่วมกับป่าไม่ได้ คงจะต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ หากได้สัมผัสกับโครงการพัฒนาป่าไม้ ภูหินร่องกล้า ซึ่งน้อม นำแนวพระราชดำริเรื่องคนกับป่าของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ ตั้งแต่ปี 2552

ย้อนไปเมื่อ 30-40 ปี ขณะที่ไทยกำลังตกอยู่ภายใต้การคืบคลานของ “ลัทธิคอมมิวนิสต์” สมรภูมิ “ภูหินร่องกล้า” เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ เพราะเชื่อมต่อพื้นที่ถึง 3 จังหวัด คือ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก อ.ด่านซ้าย จ.เลย และ อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ ทั้งด้วยภูมิประเทศที่เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน เต็มไปด้วยป่ารกชัฎ นี่จึงกลายเป็นฐานที่มั่นของคอมมิวนิสต์ในยุคนั้น

MP22-3307-4B ต่อมาภายหลังเหตุการณ์คลี่คลายลง ด้วยพระบารมีในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเสด็จไปเยี่ยม ราษฎรของพระองค์ได้ทุกๆ ที่ ประกอบกับรัฐบาลในขณะนั้นประกาศใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร ผู้ก่อการร้ายจำนวนมากและชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ตัดสินใจออกจากป่าเพื่อมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

แม้สถานการณ์บ้านเมืองจะสงบ แต่ปัญหาที่ภูหินร่องกล้ายังไม่จบ เพราะบริเวณดังกล่าวมีชาวไทยภูเขาเผ่าม้งอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากรอบแนวเขตอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 48 ของไทยแห่งนี้ ที่ยังชีพด้วยการปลูกฝิ่นกับกะหลํ่าปลี จึงมักเข้าไปบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า สร้างความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก บางครั้งลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชน ซึ่งแม้จะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสมัยก่อน แต่ก็เป็นโจทย์สำคัญที่ทางการต้องเร่งแก้ไข

MP22-3307-1B โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้าจึงกำเนิดขึ้น เพื่อปฏิบัติงานโครง การตามพระราชดำริ ด้านงานพัฒนาป่าไม้ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยส่งเสริมให้ชาวม้งเปลี่ยนจากปลูกฝิ่นและไร่กะหลํ่าปลี ที่ใช้สารเคมีมากมายทำให้ดินเสีย หันมาปลูกพืชที่เป็นมิตรกับ ธรรมชาติ ทดแทนภูเขาหัวโล้นที่ถูกบุกรุกบนยอดดอย หันมาปลูก “สตรอว์เบอร์รี่ พันธุ์พระราชทาน 80” เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวที่มาชมความงามของทุ่งดอกกระดาษ และดอกนางพญาเสือโคร่ง และ “กาแฟอาราบิก้า” เพิ่มอาชีพสร้างรายได้ เริ่มแรกมีเพียง 3 ไร่ บนแปลงสาธิตในโครงการก่อน จากนั้นชาวบ้าน ก็นำไปปลูกในพื้นที่ของตน

MP22-3307-2B จนตอนนี้มีชาวเขาเผ่าม้งมาช่วยงานในโครงการทั้งสิ้น 17 ครอบครัว และนำการปลูกสตรอว์เบอร์รี่ และกาแฟอาราบิก้า ไปปลูกไม่ ตํ่ากว่า 30 ไร่แล้ว และหนึ่งในความภาคภูมิใจ คือ การเพาะปลูกกาแฟอาราบิก้าใต้ต้นสน เป็นที่แรกและที่เดียวในไทย ที่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เกิดจากการลองผิดลองถูกจนสำเร็จและเกิดเป็นความรู้ กับประชาชนในพื้นที่ว่ากาแฟ สามารถขึ้นได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องถางป่า ถ้ามีความสูง มีความเย็นเพียงพอ เมื่อกาแฟออกผล เก็บเมล็ด แปรรูปขายได้ในราคาแพงคุ้มค่ากว่า

MP22-3307-B นอกจากกาแฟ ก็มีการปลูกชาอัสสัม ซึ่งเริ่มนำมาทดลองปลูกในระยะแรก หากได้ผลดีก็จะให้ชาวบ้านปลูกเป็นอาชีพต่อไป ขณะเดียวกันยังปลูกฝังการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ภูหินร่องกล้ากลับมาอุดมสมบูรณ์ในเวลาไม่นาน
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการนำแนวพระราชดำริมาปฏิบัติเกิดผลเป็นรูปธรรมเรียกได้ว่าเป็นการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง “ศาสตร์พระราชาจากตำราของพ่อ จะเห็น ว่าคนกับป่าอยู่ร่วมกันได้ด้วยการเกื้อกูลกัน ถ้าคนอยู่ได้ ป่าก็อยู่ได้ ให้เขามีอาชีพ เขาก็จะรักป่า ไม่ทำลายป่า”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว