“ไม้ดัด-เขามอ” วัดคลองเตยใน ...ความงดงามทางภูมิปัญญาไทย สู่การประดับ “พระเมรุมาศ” อย่างสมพระเกียรติ

25 ต.ค. 2560 | 04:26 น.
1102
“การได้นำ ‘ไม้ดัด’ และ ‘เขามอ’ จากวัด ไปเป็นส่วนหนึ่งของการประดับพระเมรุมาศ คือ ความภาคภูมิใจสูงสุดของชีวิต ซึ่งพวกเราในฐานะผู้สืบสานไม้ดัดโบราณ รู้สึกปลาบปลื้มใจที่ได้อนุรักษ์คุณค่าของชาติสิ่งนี้สืบไว้ และส่งต่ออนุชนรุ่นหลัง โดยเฉพาะการเป็นศูนย์กลางด้านการเรียนรู้ไม้ดัดแห่งหนึ่งของประเทศไทย”


 

[caption id="attachment_221507" align="aligncenter" width="503"] MP28-3307-4A พระราชสิทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน[/caption]

คำกล่าวที่แสดงออกผ่านแววตาที่ตื้นตันและความอาลัยอย่างสุดซึ้งที่มีต่อ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ของ พระราชสิทธิสุนทร เจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน ผู้รอบรู้และรักในการเรียนรู้เกี่ยวกับไม้ดัดไทย โดยเจ้าอาวาสวัดคลองเตยใน เล่าว่า “ไม้ดัดไทย” มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจวบจนถึงรัชกาลที่ ๗ จากนั้นค่อย ๆ ทยอยหายไป ซึ่งพระคุณเจ้าท่านมีความชื่นชอบเกี่ยวกับไม้ดัดเป็นการส่วนตัว จึงได้เริ่มศึกษาและอ่านตำราต่าง ๆ ตั้งแต่ผนวชแรก ๆ เมื่อประมาณ ๔๐ ปีที่แล้ว นอกจากนั้น ยังได้พบกับคณาจารย์และผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการสร้างไม้ดัดในประเทศไทยหลากหลายท่าน จนทราบว่า พื้นที่คลองเตยนั้น คือ จุดเริ่มต้นและศูนย์รวมไม้ดัดที่มีการสืบทอดมาตั้งแต่โบราณกาล จากนั้นพระคุณเจ้าจึงเริ่มนำเอาไม้โบราณประเภทต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ไม้ขบวน, ไม้ฉาก, ไม้หกเหียน, ไม้เขน, ไม้ป่าข้อม, ไม้ญี่ปุ่น, ไม้กำมะลอ, ไม้ตลก และไม้เอนชาย มาตัดแต่งลำต้น กิ่ง หุ่น ให้ออกท่าทาง และรอคอยนานแรมปี เพื่อให้ต้นไม้คงรูปตามจินตนาการ นับว่าเป็นความเพียรแห่งการสร้างสรรค์ต้นไม้แห่งศิลปะ โดยในเอเชียมีเพียง ๓ ประเทศ ที่อนุรักษ์ไม้ดัดไว้ คือ จีน, ญี่ปุ่น และไทย

 

[caption id="attachment_221505" align="aligncenter" width="335"] พระวิเชตร ปภัสสโร พระวิเชตร ปภัสสโร[/caption]

“ครั้งหนึ่ง ... สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเยือนประเทศจีน ทางรัฐบาลได้จัดแสดงไม้ดัดเก่าแก่ที่มีความงดงามให้พระองค์ท่านทอดพระเนตร พระองค์จึงได้ตรัสกับคณะผู้ร่วมเดินทางเกี่ยวกับไม้ดัดในประเทศไทย จนทราบว่า วัดคลองเตยใน คือ สถานที่ที่สืบสานและอนุรักษ์ไม้ดัดโบราณและเขามอ พระองค์จึงทรงรับสั่งและเสด็จเยี่ยมชมในเวลาต่อมา จนกระทั่ง ‘ในหลวง รัชกาลที่ ๙’ เสด็จสวรรคต พระองค์ท่านได้เสด็จมาที่วัดคลองเตยในอีกครั้ง พร้อมกับปรารภว่า ให้นำเอาไม้ดัดและเขามอไปเป็นส่วนประดับพระเมรุมาศ”

หลังจากนั้น วัดคลองเตยในได้รับการประสานจากกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม เพื่อขอใช้ไม้ดัดไทยและเขามอจากวัดคลองเตยในสำหรับการประดับพระเมรุมาศ รวมทั้งอาคารประกอบในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ในขณะนี้ ทางวัดได้จัดไม้ดัด จำนวน ๗๑ ต้น และเขามอ จำนวน ๑๗ ต้น ให้เป็นที่เรียบร้อย โดยเฉพาะในส่วนของเขามอนั้น ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่จะไม่รู้จัก

จากการสนทนากับ พระวิเชตร ปภัสสโร พระคุณเจ้าวัดคลองเตยใน ที่เข้าไปจัดสถานที่พระเมรุมาศ เล่าให้เราฟังได้อย่างน่าสนใจว่า เขามอเป็นศิลปะต้นไม้ที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเช่นกัน โดยได้รับอิทธิพลมาจากการไหลเททางวัฒนธรรมของขุนนางจีนและชาวญี่ปุ่น ส่วนใหญ่ก่อขึ้นและนำไปประดับตามสถานที่สำคัญ อย่าง พระราชวัง วัด เป็นต้น

MP28-3307-1A

“อีกนัยสำคัญ ‘เขามอ’ ที่ก่อขึ้นนั้น ถูกนำมาใช้ในการตกแต่งการสร้างพระเมรุมาศมาตั้งแต่อดีตกาล เนื่องจากเขามอเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึง ‘เขาพระสุเมรุ’ เพราะการจัดวางเขามอนั้น จะมีหินเป็นวัสดุหลักในการก่อ โดยนำมาตกแต่งคู่กับไม้ดัด ซึ่งจะมีความสูงกว่าหินดังกล่าว เรียกว่า ‘ปลูกไม้ข่มเขา’ นั่นเอง อย่างไรก็ดี ความงดงามของเขามอนั้น สามารถผสมผสานจินตนาการรูปสัตว์นานาชนิด โดยเฉพาะสัตว์ป่าหิมพานต์ จึงเป็นที่มาของการประดับพระเมรุมาศรวมทั้งอาคารประกอบในพิธีของไม้ดัด จะตกแต่งอยู่รายล้อมสระอโนดาต สำหรับเขามอจะตั้งอยู่ตรงพระเมรุมาศฝั่งศาลฎีกา ตรงข้ามกับพระที่นั่งทรงธรรม โดยบรรจุในกระถางขนาด ๓๐ เซนติเมตร”

MP28-3307-A

“ไม้ดัดและเขามอ” ถือเป็นฐานรากภูมิปัญญาไทย ที่ควรดำรงไว้สืบต่ออนุชนรุ่นหลัง เพราะนอกจากความงดงามของต้นไม้ ศิลปะพรรณไม้ และกระบวนการตกแต่งดังกล่าว ยังสอนให้เรารู้จักความเพียรพยายาม อดทน และทำความเข้าใจไปกับสัจธรรมของธรรมชาติ ที่สำคัญเสริมสร้างจินตนาการและความสร้างสรรค์ สอดรับกับพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทของ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ที่สอนสั่งและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับพสกนิกรชาวไทยรักในการเรียนรู้ หมั่นเพียรในการศึกษา และสืบสานชาติไทยให้คงอยู่สืบไปอย่างมีคุณค่า

“การเป็นส่วนหนึ่งเพียงได้ยก ได้หยิบ และได้ตกแต่งไม้ดัดและเขามอ เพื่อประดับพระเมรุมาศครั้งนี้ ถือเป็นเกียรติและความภาคภูมิใจสูงสุดในฐานะสมณะและวงศ์ตระกูล ยิ่งทุกครั้งที่มองผ่านภาพข่าว ภาพวิดีโอจากโทรทัศน์ รู้สึกตื้นตันและปลาบปลื้มใจเป็นที่สุด ซึ่งเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อเราเกิดเป็นคนไทยและได้ทำบางสิ่งบางอย่าง แม้จะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ เพื่อพระองค์ท่านนั้น คือ การแสดงความจงรักภักดีและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ และแม้ใต้กระถางต้นไม้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยความโศกเศร้า อาลัย แต่ยอด ผล และใบ คือ สิ่งที่บ่งบอกถึงความงอกงามในการก้าวเดินสู่สรวงสวรรค์ของ ‘ในหลวง รัชกาลที่ ๙’ ตราบนิจนิรันดร์

เรื่อง : อนุวัฒน์ โพธิ์ทอง
ภาพ : ระวิภาส บุญลือ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560

e-book