จากเลนส์สู่เรื่องราว... บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 8

24 ต.ค. 2560 | 23:01 น.
1946


MP26-3307-4A



จากเลนส์สู่เรื่องราว... บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 8
| สำหรับเด็กนักเรียนมัธยมที่รักการถ่ายภาพคนหนึ่ง คำพูดชวนไปถ่ายภาพประติมากรรมที่สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ของ “ฟาน วาทกานต์ ดะห์ลัน” รุ่นน้องที่โรงเรียน ซึ่งอยู่ในชมรมช่างภาพเหมือนกัน คือ จุดเริ่มต้นของเส้นทางชีวิตที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ของแผ่นดิน ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข โดยเฉพาะพระมหากษัตริย์ผู้ทรงครองหัวใจของคนไทยทั้งประเทศและทั่วโลก “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร”




MP26-3307-3A

จากความสนใจศิลปะและการถ่ายภาพเป็นทุนเดิม ทำให้ผมตอบรับแทบจะในทันที ยิ่งพอได้ทราบในรายละเอียดว่า ประติมากรรมที่เรากำลังจะไปเก็บภาพกันนั้น คือ งานศิลปะประดับใน “พระเมรุมาศในรัชกาลที่ ๙” ทำให้ผมยิ่งตื่นเต้นเป็นเท่าทวีคูณ จากเด็กที่ถ่ายภาพกิจกรรมโรงเรียน ไม่เคยคิดฝันมาก่อนเลยว่า จะได้มีโอกาสเข้าใกล้งานจิตรกรรม งานประติมากรรม และงานประณีตศิลป์ อันมีฝีมือของช่างสิบหมู่ที่สืบต่อกันมาหลายยุคหลายสมัย


MP26-3307-1A

ต้นเดือน ก.ค. ๒๕๖๐ คือ การเดินทางไปสำนักช่างสิบหมู่ครั้งแรกของผม, ฟาน และพี่คิว พวกเรา ๓ คน ต้องหารถไปกันเอง ตอนนั้นผมมีเงินติดตัวอยู่เพียง ๑๐๐ บาท เส้นทางไปเราก็ยังไม่ทราบแน่ชัด บวกกับงบประมาณจำกัด เรา ๓ คน จึงเลือกนั่งรถประจำทาง สาย ๔๗ จากโรงเรียนเทพศิรินทร์ เพื่อหาทางไปต่อ โดยเลือกสนามหลวงเป็นจุดเริ่มต้น พอมาถึงพวกเราเลยเข้าไปสอบถามเส้นทางกับพี่ตำรวจ เขาแนะนำให้เรานั่งรถประจำทาง สาย ๑๒๔ ไปลงที่มหาวิทยาลัยมหิดล พวกผมคุยกันอยู่ที่ป้ายรถประจำทางจนเกือบจะตกรถ แต่ก็มาถึงนครปฐมจนได้ เรานั่งแท็กซี่ไปลงที่สำนักช่างสิบหมู่ และถึงที่หมายในช่วงบ่าย นี่เพิ่งจะเริ่มเดินทางเองนะครับ ระยะทางจากโรงเรียนเทพศิรินทร์มาถึงสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ที่ จ.นครปฐม ก็ไม่ใช่ระยะทางใกล้ ๆ และยิ่งผมเหลือเงินติดตัวเพียงเท่านั้น แค่เริ่มเดินทาง ยังไม่ทันจะได้เก็บภาพ ก็ได้ประสบการณ์มากมายขนาดนี้แล้ว อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าได้เริ่มต้นทำงานจะได้อะไรกลับมาขนาดไหน หลังจากนั้น ผมก็ได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายภาพในบริเวณก่อสร้างพระเมรุมาศ ในฐานะหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายช่างภาพเยาวชนจิตอาสา กรมศิลปากร วินาทีนั้นผมเริ่มคิดว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะมีโอกาสมายืนอยู่ตรงนี้ แอบกังวลไปว่า ภาพที่ผมถ่ายออกมาจะไม่ดีพอ แต่ถ้าผมต้องทำงานด้วยความกังวล ก็คงจะส่งผลต่อผลงานภาพถ่ายของผมอยู่ไม่น้อย ผมจึงต้องเปลี่ยนความคิดนั้นเป็นแรงผลักดันให้ตัวเอง ทำให้สุดความสามารถเท่าที่จะทำได้


MP26-3307-2A

กลางเดือน ก.ย. ผมสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญของงานนี้มากขึ้น การได้เห็นคนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเดินทางมากราบสักการะพระบรมศพ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” อย่างไม่ขาดสาย พร้อม ๆ กับการช่วยเหลือที่เข้ามาทุกทิศทาง ทั้งการดูแลผู้อยู่ในแถวเพื่อรอกราบสักการะพระบรมศพผ่านการแบ่งปันอาหาร น้ำ ยาดม และขนมต่าง ๆ รวมถึงการร่วมกันดูแลความสะอาดในบริเวณนั้น ๆ ทำให้ผมเห็นคุณค่าของแต่ละคนในการร่วมเป็นหนึ่งในจิตอาสา เพื่อถวายแก่พ่อของแผ่นดินของพวกเราในครั้งนี้ ซึ่งเราเองก็ได้นำความถนัดและอุปกรณ์ที่มีร่วมเป็นจิตอาสาถ่ายภาพให้กับพี่ ๆ จิตอาสา ที่ร่วมงานในส่วนต่าง ๆ และประชาชนโดยรอบสนามหลวง เพื่อให้คนที่ไม่มีกล้อง ไม่มีมือถือ หรือคนต่างจังหวัดนั้น ได้นำภาพที่เป็นความทรงจำครั้งยิ่งใหญ่นี้ไปให้ลูกหลานหรือพี่น้อง เพื่อน ๆ ได้ดู และจะได้คุยกับคนอื่นว่า เราก็เป็นส่วนหนึ่งของงานพระเมรุมาศนี้เช่นกัน

 

[caption id="attachment_221493" align="aligncenter" width="503"] เรื่องและภาพ: นายนิธิโชติ อิงค์สกุลสุข โรงเรียนเทพศิรินทร์ เรียบเรียง: บุรฉัตร ศรีวิลัย เรื่องและภาพ: นายนิธิโชติ อิงค์สกุลสุข โรงเรียนเทพศิรินทร์
เรียบเรียง: บุรฉัตร ศรีวิลัย[/caption]

สำหรับผมแล้ว “ในหลวง” ทรงเป็นทั้งพ่อ เป็นทั้งครู พระองค์ท่านทรงสอนอะไรหลาย ๆ อย่างให้กับเรา พ่อสอนเราให้รู้จักคำว่า “พอเพียง” พ่อสอนให้เราเป็นลูกที่รักกัน จะอยู่ไกลหรือใกล้กัน เราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ต้องสามัคคีกัน และไม่ทอดทิ้งกัน


2004

นับจากวันที่หมุดตัวแรกได้ตอกลงบนผืนดินของท้องสนามหลวง จนถึงวันที่พระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” เสร็จสมบูรณ์ ความรู้สึกในวันนี้ ผมไม่อยากให้คนไทยลืมว่า เรามีพระเจ้าอยู่หัวที่คอยดูแลเรา คนไทยมีวันนี้ได้ เพราะพระองค์

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,307 วันที่ 22-25 ต.ค. 2560

e-book