มจธ.รับเหรียญ1ทอง3 เงินจากการแข่งขันเสนอผลงานนวัตกรรม NRIC 2017

19 ต.ค. 2560 | 09:26 น.
มจธ. รับ 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน จากการเข้าร่วมการแข่งขันเสนอผลงานนวัตกรรม Novel Research & Innovation Competition 2017 (NRIC 2017)

4 ผลงาน แอพพลิเคชันระบบจัดการขายหน้าร้าน, เครื่องหยอดเมล็ดลงถาดเพาะต้นกล้า, รีไซเคิลถุงน้ำยาล้างไต ผลิตเป็นวัสดุกันเสียง และผลิตภัณฑ์อกไก่นุ่มสำหรับผู้สูงอายุ โดยนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่เข้าร่วมการแข่งขันเสนอผลงานนวัตกรรม Novel Research & Innovation Competition 2017 (NRIC 2017) ณ ประเทศมาเลเซีย ได้รับรางวัล 1 เหรียญทอง 3 เหรียญเงิน พร้อมรางวัล Innovation Award

การแข่งขันเสนอผลงานนวัตกรรม NRIC 2017 เป็นเวทีการนำเสนอผลงานนวัตกรรมจาก 3 ประเทศ คือ มาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย โดยผลงานของนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มจธ. เข้าร่วมแข่งขัน 4 ผลงาน และคว้ารางวัลชนะเลิศ 1 เหรียญทอง และรางวัลรองชนะเลิศ 3 เหรียญเงิน พร้อมรางวัลพิเศษ Innovation Award

kmu2

นายธำนงสิน สุภวัฒนา นายนันทวัฒน์ แสงไฟ และนายพัฒนะ จงรุ่งเรืองวัฒนา นักศึกษาภาควิชาคณิตศาสตร์ มจธ. ผลงานโปรแกรมประยุกต์ระบบขายหน้าร้านบนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ "Point of Sale Application on Android Operating System" รางวัลเหรียญทอง สาขา Information Technology and Communications และรางวัล Innovation Award เล่าว่า ระบบขายหน้าร้าน (POS) ที่สร้างขึ้นประกอบด้วย ระบบการชำระสินค้าโดยการสแกนบาร์โค้ด ระบบจัดการคลังสินค้า และระบบรายงานข้อมูล เป็นโปรแกรมประยุกต์บนระบบแอนดรอยด์ ลูกค้าสามารถชำระผ่าน PayPal หรือโอนเงินผ่านทาง K plus หรือ KTB netbank ด้วยการสแกน QR code ของร้านค้าผ่านโปรแกรมประยุกต์ของธนาคารนั้นๆ เพื่อช่วยเพิ่มความคล่องตัวให้กับธุรกิจค้าขายขนาดเล็ก ช่วยบริหารจัดการข้อมูลเป็นระบบ เป็นรูปแบบขั้นตอน และช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจมากยิ่งขึ้นด้วย

นายวชิรศักดิ์ ทองสา และนางสาวอินทุอร ผิวบัวคำ นักศึกษาภาควิชาฟิสิกส์ มจธ. ผลงานการออกแบบและสร้างเครื่องหยอดเมล็ด "Design and Construction of Seeding Filler" รางวัลเหรียญเงิน สาขา Engineering and Technology เพื่อช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในการหยอดเมล็ดสำหรับศูนย์พัฒนาโครงการหลวง เพื่อช่วยส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ผลงานการออกแบบและสร้างเครื่องหยอดเมล็ด อาศัยหลักการทำงานของระบบสุญญากาศ สามารถหยอดเมล็ดผักกาดหอมห่อที่มีขนาดเล็กและมีลักษณะแบนและรีได้ โดยสามารถหยอดเมล็ดลงในถาดเพาะกล้าขนาด 200 หลุม ได้ภายในครั้งเดียว เครื่องหยอดเมล็ดทำจากแผ่นอะคริลิก มีลักษณะเป็นกล่องที่มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า บริเวณผิวหน้าด้านหนึ่งของเครื่องจะเจาะรูขนาดเล็กๆ จำนวน 200 รู ที่มีตำแหน่งตรงกับช่องสำหรับหยอดเมล็ดของถาดเพาะกล้า

kmu4

เครื่องทำงานโดยอาศัยเครื่องดูดฝุ่นที่ใช้ตามบ้านเรือนทั่วไป เป็นตัวที่ทำให้เกิดสภาวะสุญญากาศและเกิดแรงในการดูดเมล็ด เมื่อนำเมล็ดโรยด้านบนของรูที่เจาะไว้ ในขณะที่เปิดเครื่องดูดฝุ่น เมล็ดจะถูกดูดและติดอยู่ที่บริเวณปากรู หลังจากนั้นทำการพลิกกลับด้านที่มีเมล็ดติดอยู่ให้คว่ำลงประกบกับฐานเครื่อง ซึ่งมีถาดเพาะกล้ารองอยู่ด้านล่าง แล้วปิดเครื่องดูดฝุ่นและเปิดวาล์วให้อากาศไหลเข้าภายในเครื่อง เพื่อทำให้ความดันเพิ่มสูงขึ้นแล้วปล่อยเมล็ดลงถาดเพาะกล้าที่เตรียมไว้ เมื่อเปรียบเทียบกับการหยอดด้วยมือแบบเดิม เครื่องที่สร้างขึ้นนี้สามารถช่วยประหยัดเวลาที่ใช้ในการหยอดเมล็ดได้มากกว่าประมาณ 10 เท่า ซึ่งคาดว่าหากนำไปใช้งานจริงจะช่วยทำให้สามารถเพาะกล้าได้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกอย่างแน่นอน

ด้านนางสาวจันทร์จิรา ตั้งอยู่สุข และนางสาวณัฐชนก อ่อนกล่ำ นักศึกษาภาควิชาเคมี มจธ. ผลงานการศึกษาความเป็นไปได้ในการผลิตวัสดุกันเสียงจากถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้ว "Recycling Study of Used Peritoneal Dialysis Solution Containers to Soundproofing Sheets " รางวัลเหรียญเงิน ประเภท Engineering and Technology เล่าถึงแนวคิดที่มาของผลงานว่า ต้องการที่จะช่วยลดปัญหาขยะพลาสติกจากถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้วที่มีจำนวนมาก จึงนำมารีไซเคิลเพื่อผลิตแผ่นวัสดุกันเสียง โดยนำถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้วมาเป็นวัสดุตั้งต้นแทนพอลิไวนิลคลอไรด์ และหาอัตราส่วนผสมของเติมแต่งที่เหมาะสมในการขึ้นรูปเป็นแผ่นวัสดุกันเสียงที่ใกล้เคียงกับแผ่นวัสดุกันเสียงที่มีจำหน่ายเชิงพาณิชย์ ซึ่งนอกจากเป็นการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่แล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้วอีกด้วย

kmu

นางสาวจินดาวดี แซ่ล้อ นางสาวภูมิใจ จารุรังสีพงค์ และนางสาวนภสร อังศุชัยกิจ นักศึกษาภาควิชาจุลชีววิทยา มจธ. ผลงาน การดัดแปลงเนื้อสัมผัสของเนื้ออกไก่พร้อมบริโภคสำหรับผู้สูงอายุ "Texture – Modification of Ready to Eat Chicken Breast for Elderly Consumer" รางวัลเหรียญเงิน ประเภท Life Science เล่าว่า เป็นการวิจัยเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดี เนื่องจากผู้สูงอายุมีสุขภาพฟันไม่แข็งแรง การบดเคี้ยวและระบบการย่อยเสื่อมถอยลง ทำให้ไม่สามารถบริโภคอาหารบางชนิดได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการขาดสารอาหารและส่งผลเสียต่อสุขภาพ

kmu1

จึงเป็นที่มาของงานวิจัย การผลิตเนื้ออกไก่ดัดแปลงเนื้อสัมผัสพร้อมบริโภคสำหรับผู้สูงอายุ ใช้เพียงลิ้นกับเพดานปากบดเนื้ออกไก่ให้อยู่ในสภาพพร้อมกลืนได้ ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามานี้ยังคงมีรสชาติและกลิ่นรสเหมือนเนื้ออกไก่ปรุงสุกปกติ และได้รับการยอมรับจากผู้ทดสอบซึ่งเป็นผู้สูงอายุอยู่ในระดับชอบมาก รวมทั้งมีค่าประสิทธิภาพในการถูกย่อยในระบบการย่อยอาหาร (in vitro) สูงกว่าเนื้ออกไก่ปรุงสุก ปัจจุบันผลงานวิจัยนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการยื่นขอจดอนุสิทธิบัตร

e-book