สธ.ประชุมทางไกลซักซ้อมแพทย์ดูแลปชช.งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ

19 ต.ค. 2560 | 08:39 น.
กระทรวงสาธารณสุข ประชุมวิดีโอทางไกลกับศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ซักซ้อมความพร้อมทีมแพทย์และทีมจิตอาสาเฉพาะกิจด้านการแพทย์ ย้ำ รพ.สต.เตรียมความพร้อมดูแลประชาชนที่เข้าร่วมถวายดอกไม้จันทน์ในแต่ละอำเภอ

วันนี้ (19 ตุลาคม 2560) ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) จังหวัดนนทบุรี  นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้บัญชาเหตุการณ์ศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Operation Center : OC) กระทรวงสาธารณสุขส่วนกลาง ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมวิดีโอทางไกลกับศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศว่า นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งให้มีการซักซ้อมการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์สำหรับงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เนื่องจากขณะนี้ทุกจังหวัดได้สร้างพระเมรุมาศจำลอง และสร้างซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ในทุกอำเภอ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมถวายดอกไม้จันทน์แสดงความอาลัยต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยที่ไม่ต้องเดินทางมายังกรุงเทพฯ

อ๊ายยยขายของ-7-1 นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ทุกจังหวัดจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขดูแลประชาชนให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ตามแผนที่วางไว้  เตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการแพทย์ ยาเวชภัณฑ์ ทรัพยากรด้านการแพทย์ ทีมปฏิบัติการเช่น ทีมแพทย์ประจำจุดพระราชพิธี ทีมแพทย์ฉุกเฉิน ทีมสุขภาพจิต ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรค ทีมอนามัยสิ่งแวดล้อม การสำรองเตียงรับผู้ป่วย รถพยาบาล โรงพยาบาลรับ-ส่งต่อ และให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จัดเจ้าหน้าที่ร่วมดูแลประชาชนที่ซุ้มถวายดอกไม้จันทน์ในทุกอำเภอ ทั้งนี้ ประชาชนอาจเกิดภาวะเศร้าโศกระหว่างร่วมแสดงความอาลัย และอาจมีการแสดงอาการทางร่างกายได้หลายอย่าง ดังนั้นจึงได้ให้ทุกจังหวัดจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุข และจิตอาสาเฉพาะทางการแพทย์เพิ่มเติมในเรื่องการปฐมพยาบาลจิตใจ ให้บริการเชิงรุกค้นหาผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเพื่อให้การดูแลทันที โดยใช้แนวทางเปลี่ยนความโศกเศร้าเป็นพลัง

สำหรับประชาชนที่จะเข้าร่วมงานพระราชพิธีฯ ขอให้เตรียมร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมหมวก ร่ม พัด อาหารแห้งและน้ำดื่มหรือภาชนะสำหรับเติมน้ำ ผู้ที่มีโรคประจำตัวให้พกยาประจำตัวไว้ตลอดเวลา ในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่เดินทางคนเดียว ขอให้เขียนชื่อ-สกุล ประวัติการแพ้ยาหรือโรคประจำตัว โรงพยาบาลที่รักษาประจำ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อญาติเก็บติดตัวไว้เสมอ เพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน e-book