ผนึกแบงก์ปล่อยกู้ตรง Shopping Rateเกลื่อน สางปม‘รีเจ็กต์’กู้บ้าน

20 ต.ค. 2560 | 06:22 น.
ดีเวลอปเปอร์แก้เกมยอดรีเจ็กต์สินเชื่อ เดินหน้าจับมือธนาคารเพิ่มหวังดันยอดโอนบ้านโค้งท้าย “ทิสโก้” เชื่อกระแส Shopping Rate มีทุกเซ็กเมนต์ ฟากกสิกรไทย-ไทยพาณิชย์ รับเห็นผู้ประกอบการจับมือแบงก์งัดแคมเปญดูดลูกค้า ยอดอนุมัติลูกค้าผ่านโครงการแตะ 75-80%

นายณัฐพล ลือพร้อมชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ผู้ประกอบการโครงการบ้านใหม่ต้องการลดยอดการปฏิเสธสินเชื่อ โดยการเพิ่มความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น เช่น จากเดิมมีเพียง 3 แห่ง แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้น 5-7 แห่งต่อโครงการทำให้ลูกค้าเกิดความเปรียบเทียบและตัดสินใจง่ายขึ้น

[caption id="attachment_220860" align="aligncenter" width="503"] ณัฐพล ลือพร้อมชัย ณัฐพล ลือพร้อมชัย[/caption]

“ดีเวลอปเปอร์ทำเพื่อปิดความเสี่ยงตัวเอง เพราะลูกค้าไม่ต้องเดินไปหาธนาคารพาณิชย์ที่อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้ยอดการอนุมัติสินเชื่อผ่านโครงการจะสูงกว่าลูกค้าเดินเข้าธนาคาร”

อย่างไรก็ตามการเพิ่มความร่วมมือกับธนาคารหลายแห่งของดีเวลอปเปอร์นั้น จะเห็นว่าทำในระยะสั้น เพราะถ้าทำในระยะยาวค่อนข้างจะมีปัญหาทำให้การโอนเกิดความล่าช้า เนื่องจากต้องรอให้ทุกธนาคารอนุมัติสินเชื่อพร้อมกัน ลูกค้าจึงจะสามารถตัดสินใจการโอนได้

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา พยายามทำงานร่วมกับดีเวลอปเปอร์ต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเป็น 1 ใน 3 ธนาคารที่มีขั้นตอนกระบวนการอนุมัติรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้าและดีเวลอปเปอร์ ปัจจุบันอัตราการอนุมัติสินเชื่อแล้วเสร็จภายใน 3 วัน มีสัดส่วนสูงถึง 95% ถือว่าค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับตลาด

ไตรมาสที่ 4 ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ 1.8-2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสินเชื่อใหม่เติบโตสุทธิ 8,000 ล้านบาท จากเป้าหมายสินเชื่อปล่อยใหม่ทั้งปีอยู่ที่ 5.9 หมื่นล้านบาท ยอดสินเชื่อคงค้าง ณ เดือนกันยายนอยู่ที่ 2.09 แสนล้านบาท ภายในสิ้นปีจะจบที่ 2.17 แสนล้านบาท

“การปฏิเสธสินเชื่อ จะมากน้อยขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละธนาคาร เพราะแต่ละธนาคารจะมีตะแกรงกลางคัดกรองไม่เหมือนกัน แต่การเพิ่มจำนวนแบงก์ส่งผลให้ลูกค้าผ่านได้”

ส่วนภาพการแข่งขันด้านราคา จะเห็นลดราคาจนถึงระดับหนึ่ง โดยเฉลี่ยการแข่งขันราคาจะอยู่ที่ 3 ปีแรก ตํ่าสุดที่เห็นในระบบตอนนี้ประมาณ2.9-3.3% และเป็นการแข่งขันในระยะสั้น

นางสาวจามรี เกษตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีดีเวลอปเปอร์บางโครงการที่ขยายความร่วมมือกับธนาคารหลายแห่งมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้ธนาคารเข้ามาเสนอโปรโมชันให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น ทำให้การแข่งขันค่อนข้างรุนแรงขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต่างก็พยายามหาโปรโมชันที่ดีเพื่อแข่งขันดึงลูกค้า แต่เชื่อว่าการแข่งขันด้านราคาคงไม่แตกต่างกันมากนัก แต่จะเป็นเรื่องของการบริการที่ลูกค้าเลือกใช้ ส่วนลดอัตราการปฏิเสธสินเชื่อนั้น มองว่าธนาคารจะพิจารณาจากลูกค้าและโครงการบ้านเป็นหลัก

ทั้งนี้ธนาคารตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ที่ 30% ในแง่ลูกค้าใหม่และพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งปัจจุบันมียอดสินเชื่อคงค้าง 5-6 แสนล้านบาท ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ในไตรมาสที่ 4 อยู่ที่ 3-4 หมื่นล้านบาท จากเป้าทั้งปีอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ปัจจุบันสามารถปล่อยสินเชื่อได้แล้วกว่า 7 หมื่นล้านบาท

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า การแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยระยะหลังมุ่งลดอัตราดอกเบี้ยตํ่า จนเป็นสินเชื่อที่แข่งขันกันด้านราคาเป็นหลัก หรือกลายเป็นพฤติกรรม Shopping Rate ของผู้บริโภคที่สามารถหาทางเลือกได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามหากธนาคารทิสโก้จะเข้าไปแข่งขันในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย จะมุ่งเน้นการลดภาระเงินต้นของเงินกู้แทนการแข่งขันด้านราคา ทั้งนี้พอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เป็นฐานของธนาคารทิสโก้ภายหลังจากที่ได้รับโอนพอร์ตของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำนวน 2.4 หมื่นล้านบาท รวมฐานเดิมของธนาคารจะมีพอร์ตสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็น 2.5 หมื่นล้านบาท

นายอลงกต บุญมาสุข ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าภาพการแข่งขันสินเชื่อที่อยู่อาศัยจะกลับมารุนแรงในช่วง 2 เดือนสุดท้าย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ โดยจะเห็นแต่ละธนาคารทำกิจกรรมในช่วงปลายปีรวมถึงผู้ประกอบการที่จะเร่งปิดยอดโอนในไตรมาส 4 ทำให้เกิดภาพการส่งเสริมการตลาดระหว่างกันของธนาคารและดีเวลอปเปอร์ผ่านโปรโมชัน 2 รูปแบบหลัก คือ ดอกเบี้ยพิเศษ และการผ่อนชำระ

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3 ธนาคารกสิกรไทย จะเน้นร่วมมือกับดีเวลอปเปอร์รายใหญ่และบริษัทรายกลางที่มีปริมาณยอดขายพอสมควรในการทำแคมเปญร่วมกัน โดยเบื้องต้นจะนำเสนอผ่านอัตราดอกเบี้ยพิเศษเฉพาะกลุ่มลูกค้า ซึ่งเป็นกลุ่มระดับกลางและบนที่มีรายได้ประจำ แต่จะไม่เห็นการแข่งขันเสนออัตราดอกเบี้ย 0% ธนาคารตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งปีอยู่ที่ 5-5.2 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันปล่อยสินเชื่อแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้หากเป็นกลุ่มลูกค้าติดต่อธนาคารโดยตรง อัตราการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มขึ้นจาก 50% ในปีก่อน มาเป็น 60-65% และกลุ่มลูกค้าผ่านดีเวลอปเปอร์ยอดอนุมัติเฉลี่ยจะอยู่ที่ 75-80% ถือว่าค่อนข้างสูง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
e-book