‘ทิสโก้’พร้อมลุยดิจิตอล

20 ต.ค. 2560 | 09:53 น.
ทิสโก้ ซุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรับ Digital Banking ทุ่มงบประมาณหลายร้อยล้านบาท ยันปี 2561 เห็นแอพพลิเคชันฟีเจอร์ใหม่ หลังต้นเดือนก.ย.เปิดตัว “Tisco Mobile Banking” รองรับลูกค้าทำธุรกรรมทุกที่-ง่ายสะดวก

นายสุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธนาคารเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการ Digital Banking รองรับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ที่ต้องการความรวดเร็วและคล่องตัวในการทำธุรกรรม จะเห็นว่าธุรกรรมการเงินบางอย่างถูกนำไปใส่ไว้บนมือถือผ่านแอพพลิเคชัน โดยตั้งงบประมาณการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลในแต่ละปีเฉลี่ยหลายร้อยล้านบาท

กลุ่มทิสโก้เปิดบริการ Tisco Mobile Banking เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับลูกค้ารายย่อยและลูกค้าเงินฝาก โดยโมบายแบงกิ้งที่ออกมานี้ในเบื้องต้นลูกค้าสามารถทำธุรกรรมโอนเงิน ทั้งบัญชีตัวเองและบัญชีอื่น ธุรกรรมรับโอนเงินรูปแบบใหม่ (พร้อมเพย์) รวมถึงลูกค้าสามารถดูความเคลื่อนไหวของบัญชีสูงสุด 10 บัญชี
ธนาคารยังได้ออกบัตรเดบิตทิสโก้ (Tisco Debit Card) ที่มีระบบความปลอดภัยสูงผ่านระบบชิปการ์ดที่ออกโดยเครือข่ายชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศ โดยลูกค้าสามารถใช้บริการถอนเงิน โอนเงิน สอบถามยอดคงเหลือในบัญชีเงินฝาก ชำระค่าสินค้าและบริการต่างๆ ผ่านเอทีเอ็มของทุกธนาคารที่สามารถรองรับระบบชิปการ์ดได้ หรือชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับบัตร (EDC) ผ่านเครือข่ายร้านค้าที่มีเครื่องหมายของบริษัท ไทย เพย์เมนต์ เน็ตเวิร์ก จำกัด หรือ TPN

sutat

หลังจากนี้กลุ่มทิสโก้จะยังพัฒนาแพลตฟอร์มการทำธุรกรรมการเงินเพิ่มเติมรองรับการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค และรองรับการขยายธุรกิจรายย่อยมากขึ้น โดยปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างเร่งวางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอลที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะการพัฒนาแอพพลิเคชันให้สามารถซื้อขายกองทุน ประกันภัย หรือการต่อยอดการเรียกดูบัญชีบัตรต่างๆ บัญชีกองทุน บัญชีหลักทรัพย์ หรือการขอสินเชื่อเพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเก่าและใหม่ หรือเป็น Application Payment System เช่น การโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์แบบ Request to Pay ชำระค่าสินค้าและบริการผ่านพร้อมเพย์ ซึ่งตอนนี้มีทีมงานกำลังเร่งทำเรื่องนี้อยู่ คาดว่าน่าจะได้เห็นภายในปี 2561 อย่างแน่นอน

“แม้ว่าระยะ 1 ปีที่ผ่านมาจะมีเรื่องของการโอนพอร์ตลูกค้ารายย่อยของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด แต่เราไม่ลืมเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิตอล โดยเรามีทีมงานเฉพาะที่คอยทำเรื่องนี้อยู่ในการพัฒนาแอพพลิเคชันแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการลูกค้าให้สามารถทำธุรกรรมได้ง่ายและสะดวกรวดเร็ว มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ประโยชน์ทั้งลูกค้าและธนาคาร เพราะเป็นการปรับตัวให้เร็วและให้ทันกับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนเรื่อง QR Code เรายังไม่ได้ทำ เนื่องจากลูกค้ารายย่อยไม่มากทำแล้วไม่คุ้ม อาจจะรอดูผลจากการทดลองก่อน”

สำหรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายหลังจากการรับโอนพอร์ตธุรกิจจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) หรือ SCBT นั้น กลยุทธ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพรวมการทำธุรกิจยังคงเดิม โดยยังคงเน้นทำตลาดในตลาดที่สามารถเติบโต แข่งขันได้ และคุ้มค่ากับความเสี่ยง เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เห็นโอกาสการเติบโต เป็นต้น

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3 ขณะที่การตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญไม่ได้เปลี่ยนแปลงเช่นกัน เนื่องจากก่อนซื้อได้มีการคำนวณไว้เรียบร้อยและตั้งสำรองไว้เพียงพออยู่แล้วโดยสินทรัพย์ที่โอนมาประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ประมาณ 3% ซึ่งธนาคารได้ตั้งสำรองไว้แล้วดังนั้น จะไม่มีภาระการตั้งสำรองเพิ่มเติมอีก โดยขณะนี้ความเพียงพอของสำรองพึงกันอยู่ที่ 180% คาดว่าภายในสิ้นปีน่าจะอยู่ในระดับนี้ ส่วนเอ็นพีแอลจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.3-2.4% ขณะที่สินเชื่อทั้งปีคาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 10% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่ที่ 15%

ขณะที่สัดส่วนพอร์ตสินเชื่อ ภายหลังการรับโอนธุรกิจมาจาก SCBT โดยพอร์ตสินเชื่อรายย่อยจะเพิ่มเป็น 80% จากเดิมอยู่ที่ 75% พอร์ตสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่จะลดลงเหลือ 14-15% จากเดิมอยู่ที่ 17% ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) อยู่ที่ 5% จากเดิมอยู่ที่ 6-7% โดยยอดสินเชื่อคงค้างสิ้นปีจะจบอยู่ที่ 2.5 แสนล้านบาท จากต้นปีอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
e-book