หุ้นยั่งยืน ลงทุนมั่นคง ผลตอบแทนเงินปันผลสูงกว่าตลาด

20 ต.ค. 2560 | 08:47 น.
ตลาดหุ้นไทย ต้นสัปดาห์นี้ (16 ตุลาคม 2560) ทะยานทำสถิติสูงสุดในรอบ 23 ปี (1,726 จุด) นักลงทุนในตลาดหุ้นไทย กลัวๆ กล้าๆ จะวิ่งเข้าใส่ตลาดหุ้น ณ เวลานี้ ก็กลัวซื้อของแพง ติดดอย หรือถ้าไม่ซื้อก็กลัวตกรถไฟความเร็วสูง หุ้นไป 1,800 จุด แล้วไม่มีหุ้นในพอร์ต คิดสะระตะ เอาไงดีหว่า หรือถ้าไม่มั่นใจ กลัวซื้อของแพง กลัวตกรถไฟ ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีทางเลือกให้นักลงทุนพิจารณา

โดยตลาดประกาศรายชื่อ 65 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) Thailand Sustainability Investment: THSI หรือหุ้นยั่งยืน ประจำปี 2560 เพิ่มขึ้น 14 บริษัท จากปี 2559 ที่มีจำนวน 51 บริษัท

สะท้อนให้เห็นว่า บจ. ตระหนักและให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และการบริหารภายใต้หลักบรรษัทภิบาล (Environment, Social and Governance: ESG) เพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนที่ดีในทางเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

[caption id="attachment_76496" align="aligncenter" width="351"] ดร.กฤษฎา เสกตระกูล ดร.กฤษฎา เสกตระกูล[/caption]

นายกฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการหัวหน้าสายงานพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า หุ้นยั่งยืน เป็นทางเลือกแก่ผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนตามแนวคิดการลงทุนอย่างยั่งยืน และต้องการลงทุนในหุ้นที่สามารถสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ บจ. มีการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในปี 2560 นี้มี 65 บจ. ที่ผ่านเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนและเกณฑ์คุณสมบัติเพิ่มขึ้น 14 บริษัท จาก 51 บริษัทในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็น บจ. ใน SET 58 บริษัท และmai 7 บริษัท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market capitalization) รวม 9.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 52.85% เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai ซึ่งเท่ากับ 17.22 ล้านล้านบาท หากพิจารณาอัตราผลตอบแทนเงินปันผลเฉลี่ยของหุ้นยั่งยืนนี้อยู่ที่ 3.63% สูงกว่าอัตราผลตอบแทนเงินปันผลของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรวมซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.44% (ณ 10 ตุลาคม 2560)

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3 ทั้งนี้บริษัทที่จัดอยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน มีตั้งแต่ บจ.ที่มีมูลค่าตลาดรวมไม่ถึง 3,000 ล้านบาท ไปสูงกว่า 1 แสนล้านบาท ใน SET และบริษัทในตลาด mai ซึ่งนักลงทุนสามารถหาข้อมูลได้จากตลาดหลักทรัพย์ฯ

สำหรับบริษัทที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน เป็นบริษัทที่มีกระบวนการจัดการและบริหารความ เสี่ยงและห่วงโซ่อุปทานอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมทางธุรกิจและสังคมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ซึ่งในปี 2560 หุ้นยั่งยืนมีจำนวนสูงสุดอยู่ในกลุ่มทรัพยากร 13 บริษัท อุตสาหกรรมสินค้าอุตสาหกรรม 12 บริษัท และอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 8 บริษัท ตามลำดับ ผลการประเมินความยั่งยืนของ 65 บจ. พบว่า บริษัทส่วนใหญ่ทำคะแนนได้ดีในมิติสิ่งแวดล้อม โดยโดดเด่นในเรื่องการดูแลสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ให้ได้รับผลกระทบจากธุรกิจน้อยที่สุด สำหรับในมิติเศรษฐกิจ บริษัทส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องจรรยาบรรณธุรกิจและการต่อต้านการทุจริต รวมถึงบรรษัทภิบาล และการบริหารความเสี่ยงและภาวะวิกฤติ ในขณะที่มิติสังคม บริษัทส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรื่องการดูแลสุขภาวะและความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงาน และการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทและการร่วมพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคมอย่างยั่งยืนผ่านกระบวนการทางธุรกิจ

การจัดทำรายชื่อหุ้นยั่งยืน ปี 2560 ตลาดหลักทรัพย์ฯ คัดเลือกจาก 90 บจ. ที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่ประกอบด้วยคำถามจาก 19 หมวด 42 ข้อคำถามหลัก 182 ข้อคำถามย่อย ครอบคลุมในมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงบรรษัทภิบาล ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ทบทวนคำถามในแบบประเมินทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทที่เป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างความยั่งยืนที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล โดยในปีนี้มีการเพิ่มคำถามที่เป็นสาระสำคัญใน 3 ประเด็นได้แก่ การประเมิน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (emerging risk) การระบุประเด็นที่เป็นสาระสำคัญของธุรกิจ (materiality) และการเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
e-book