8 ปฏิบัติการ! ติดเทอร์โบ “อีอีซี" ชงนายกฯ ไฟเขียว พ.ย. นี้ - ดัน GDP ใน 5 ปีโตกว่า 5%

20 ต.ค. 2560 | 12:29 น.
เล็งคลอด 8 แผนปฏิบัติการขับเคลื่อน “อีอีซี” 20 ต.ค. นี้ มีทั้งแผนระยะสั้นและยาว ตั้งเป้าให้ “จีดีพีของประเทศ” ในช่วง 5 ปี ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% จากการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายและโครงสร้างพื้นฐาน ชง “ประยุทธ์” ไฟเขียว พ.ย. นี้

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) มี นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน ในวันที่ 20 ต.ค. นี้ จะมีการพิจารณาเห็นชอบในร่างแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนและยกระดับการพัฒนาของประเทศไทย ตาม “นโยบายไทยแลนด์ 4.0” ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ไปดำเนินการจัดทำให้ครบทุกมิติ จากที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติกรอบในการขับเคลื่อนไว้เพียง 15 โครงการ

ทั้งนี้ การจัดทำแผนดังกล่าว จะครอบคลุม 8 แผนปฏิบัติ ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เป็นต้น และมีเป้าหมายที่จะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงระยะเวลา 5 ปี (2560-2564) ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 5% จากการลงทุนในพื้นที่ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยจะมีการเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เห็นชอบในช่วงเดือน พ.ย. นี้

 

[caption id="attachment_221036" align="aligncenter" width="503"] คณิศ แสงสุพรรณ คณิศ แสงสุพรรณ[/caption]

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับร่างแผนปฏิบัติดังกล่าว จะประกอบด้วยแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในอีอีซี, แผนปฏิบัติการการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือสัตหีบ และบริหารโลจิสติกส์ต่อเนื่อง, แผนปฏิบัติการการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี, แผนปฏิบัติการการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวในอีอีซี, แผนปฏิบัติการการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางการเงินในอีอีซี, แผนปฏิบัติการการพัฒนาบุคลากรการศึกษา การวิจัย และเทคโนโลยีในอีอีซี, แผนปฏิบัติการการพัฒนาเมืองใหม่ และแผนปฏิบัติการการประชาสัมพันธ์และการสร้างระบบการมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการกับประชาชนในอีอีซี ซึ่งแต่ละแผนจะมีการกำหนดระยะเวลาดำเนินการทั้งระยะสั้น กลาง และยาวเอาไว้

โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินโครงการหลักภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว ซึ่งมีโครงการจำเป็นเร่งด่วนที่ได้ดำเนินการในปี 2560 ไปแล้ว เช่น การประกาศเขตส่งเสริมในพื้นที่ “สนามบินอู่ตะเภา” เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งจะมีการปรับปรุงขีดความสามารถของสนามบิน การพัฒนาเป็นศูนย์กลางการบิน เป็นต้น โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก ในลักษณะการให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี), โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3, ท่าเรือมายตาพุด เฟส 3 โดยวิธีการพีพีพี และการก่อสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ และครูสท่าเรือจุกเสม็ด (ท่าเรือสัตหีบ)

รวมทั้งการชักจูงอุตสาหกรรมเป้าหมาย การกำหนดมาตรการเพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ เพื่อรองรับและสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมหลัก การดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้อง การให้บริหารธุรกิจและการเงินและความต้องการอยู่อาศัย รวมทั้งการกำหนดผังเมืองพื้นที่และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3

ขณะที่ ปี 2561-2562 จะเป็นเรื่องของการก่อสร้างรถไฟทางคู่ การก่อสร้างทางหลวงสายใหม่มอเตอร์เวย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานภายใต้เมืองการบินภาคตะวันออก การกำหนดพื้นที่และพัฒนาสาธารณูปโภคเบื้องต้น สำหรับศูนย์กลางธุรกิจและศูนย์กลางทางการเงิน การพัฒนาพื้นที่เขตการค้าเสรี การชักจูงนักลงทุนเป้าหมาย และการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคสาธารณูปการ

ส่วนกลไกในการพัฒนานั้น ร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ขณะนี้ ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระที่ 2 แล้ว และคาดว่า จะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือน ธ.ค. นี้ ดังนั้น เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับ จะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและจะมาลงทุนจริงได้ตั้งแต่ต้นปีหน้า เป็นต้นไป

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19-21 ต.ค. 2560

e-book