บีโอไอรื้อแพ็กเกจส่งเสริมลงทุน

21 ต.ค. 2560 | 08:00 น.
เลขาธิการใหม่บีโอไอ รื้อแพ็กเกจ ส่งเสริมการลงทุนใหม่ ให้สอดรับกับสถานการณ์ ไล่ตั้งแต่ขยายเวลาส่งเสริมในอีอีซีและรถยนต์ไฮบริด ที่สิ้นสุดในปีนี้ พร้อมเพิ่มมาตรการส่งเสริมในการพัฒนาบุคลากร การเกษตร และเอสเอ็มอี

นางสาวดวงใจ อัศวจินจิตร์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ เปิดเผยภายหลังการเข้ารับตำแหน่งใหม่ว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่จะสิ้นสุดในวันที่ 29 ธันวาคมนี้ ทางบีโอไออยู่ระหว่างทบทวนและหามาตรการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมให้กับนักลงทุน โดยจะมีการขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนออกไปอีก เนื่องจากเป็นข้อเรียกร้องของนักลงทุน ที่อยู่ระหว่างการรอความชัดเจนของพ.ร.บ.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ เตรียมจะนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบ เนื่องจากพื้นที่อีอีซีเป็นธงนำในการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล ประกอบกับในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่พฤษภาคม 2557-กันยายน 2560 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนไปแล้วประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกว่า 30% ของการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด
อีกทั้ง เชื่อว่าเมื่อมีการขยายระยะเวลาส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีออกไป และพ.ร.บ.อีอีซีประกาศใช้ได้ในช่วงต้นปีหน้า จะทำให้มีนักลงทุนเข้ามายื่น ขอส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในแผนพัฒนาฯไปแล้ว จะช่วยให้เกิดการยื่นขอรับส่งเสริมการผลิตหุ่นยนต์และการลงทุนในระบบอัตโนมัติไปใช้ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการขาดแคลนแรงงาน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3 รวมถึงจะมาดูมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด ที่จะสิ้นสุดขอรับการส่งเสริมภายในสิ้นปีนี้เช่นกัน ว่าจะขยายระยะเวลาส่งเสริมออกไปอีกหรือไม่

นางสาวดวงใจ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ คงต้องมาดูมาตรการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ที่ดำเนินการไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การส่งเสริมด้านการเกษตรสมัยใหม่ การส่งเสริมเอสเอ็มอี ที่จะต้องนำมาทบทวนดูว่าที่ผ่านมามีช่องโหว่หรือไม่ ระหว่างนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานอยู่ และคาดว่าจะจัดทำเป็นแพ็กเกจออกมา เสนอให้บอร์ดบีโอไอ พิจารณาในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้เช่นกัน

ส่วนการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในปีนี้ บีโอไอ ยังตั้งเป้าหมายไว้ที่ 6 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย จาก 6 เดือนแรกขอปีนี้มีการยื่นขอไปแล้วจำนวน 612 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 291,790 ล้านบาท เป็นโครงการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย จำนวน 302 โครงการ มูลค่า เงินลงทุน 133,494 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
e-book