“ทีวีดิจิตอล” จี้รัฐ! รับภาระ MUX

19 ต.ค. 2560 | 12:35 น.
“13 ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล” ผนึกกำลังร้องรัฐ! แก้วิกฤติเหตุสถานการณ์เปลี่ยน เสนอให้รัฐรับภาระโครงข่ายภาคพื้นดิน (MUX) ปีละ 170 ล้านบาทต่อช่อง - นำความถี่ที่กันไว้ไปจัดสรรใหม่สำหรับโทรคมนาคม เพื่อสร้างรายได้ให้แก่รัฐ - ยุติการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่เหลือ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 17 ต.ค. ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล จำนวน 13 ช่องรายการ ได้แก่ บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด (ช่อง Thairath TV), บริษัท บางกอก มีเดียแอนด์บรอดคาสติ้ง จำกัด (ช่อง PPTV HD), บริษัท จีเอ็มเอ็ม วัน ทีวี จำกัด (ช่อง ONE), บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด (ช่อง GMM 25), บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด (ช่อง Nation TV), บริษัท แบงคอกบิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด (ช่อง NOW), บริษัท ไบรท์ ทีวี จำกัด (ช่อง Bright TV), บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง SpringNews), บริษัท ดีเอ็นบรอดคาสท์ จำกัด (ช่อง newtv), บริษัท ทรูโฟร์ยู สเตชั่น จำกัด (ช่อง True4U) และบริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด (ช่อง Amarin TV HD) ได้ยื่นหนังสือด่วนมากถึง นายจิรชัย มูลทองโร่ย ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ เกี่ยวกับเรื่องการจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเสนอแนวทางปรับโครงสร้างสื่อสารมวลชนให้สอดคล้องกันทั้งระบบ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและพฤติกรรมการรับสื่อของประชาชนในปัจจุบัน


night-television-tv-theme-machines

อย่างไรก็ตาม การยื่นหนังสือครั้งนี้ เพื่อขอให้รัฐพิจารณาเร่งดำเนินการนำคลื่นความถี่ช่วงที่เหลืออยู่ ไม่ได้ใช้ ไปจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ (Reframing) เนื่องจากปัจจุบันช่องรายการทีวีดิจิตอลมี 26 ช่อง แต่คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล กสทช. ได้กำหนดคลื่นความถี่ในช่วง 510-790 เมกะเฮิรตซ์ (ขนาด 20 เมกะเฮิรตซ์) เพื่อรองรับการออกอากาศช่องทีวีดิจิตอลได้ประมาณ 48 ช่อง แต่ปัจจุบันใช้คลื่นความถี่ไม่เต็มตามที่กันไว้แต่แรก และคลื่นความถี่บางช่องที่ใช้ในกิจการทีวีดิจิตอลตอนนี้เหมาะแก่การใช้ในกิจการโทรคมนาคมมากกว่า และหากนำไปใช้ในกิจการโทรคมนาคมก็จะสร้างประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้แล้ว ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลได้ยื่นข้อเสนอไปในครั้งนี้ เนื่องจากว่าต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการเช่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (MUX) ต้องชำระให้แก่ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน (MUX) สำหรับทีวีดิจิตอลในระบบความคมชัดสูง (HD) ปีละ 170 ล้านบาทต่อช่อง และสำหรับทีวีดิจิตอลในระบบความคมชัดปกติ (SD) ปีละกว่า 60 ล้านบาทต่อช่อง ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้ชมผ่านโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินที่มีจำนวนน้อยมาก รายได้จากค่าโฆษณาลดลงตามไป ดังนั้น หากดำเนินการเปลี่ยนผ่านเช่นเดิมต่อไป โดยให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลยังต้องแบกรับภาระค่าโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินเป็นการสร้างภาระ เมื่อไม่คุ้มทุน ผู้ประกอบการยุติประกอบกิจการก่อนครบระยะเวลาใบอนุญาต 15 ปี

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3

“งบประมาณการแจกคูปองก็ยังคงเหลืออีกจำนวนมาก การที่รัฐเป็นผู้รับภาระค่า MUX แทนผู้ประกอบการจึงมีความชอบธรรม และไม่ได้ทำให้รัฐต้องเสียประโยชน์แต่อย่างใด”

นอกจากนี้ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา รัฐได้รับเงินค่าธรรมเนียมคลื่นความถี่ไปแล้ว ประมาณ 33,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ซึ่งได้ชำระค่าธรรมเนียมไปแล้ว รวมกันมีมูลค่ามากกว่ามูลค่าคลื่นที่ใช้ในกิจการทีวีดิจิตอลในปัจจุบันทั้งหมด จึงควรยุติการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่เหลืออยู่

ขณะที่ นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมทีวีดิจิตอลและตัวแทน ได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการปฏิรูปสื่อฯ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อเสนอให้คณะกรรมการฯ พิจารณานำข้อเสนอปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอลไปอยู่ในแผนปฏิรูปสื่อของประเทศ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19-21 ต.ค. 2560

e-book