ทุ่มเงิน 1.5 พันล้าน! สปส. แก้โรงพยาบาลหนี

19 ต.ค. 2560 | 09:34 น.
จากปัญหาที่สถานพยาบาลเอกชนถอนตัวออกจากระบบประกันสังคม โดยช่วง 5 ปี คือ ปี 2555-2560 มีจำนวนถึง 10 แห่ง จากปี 2555 ที่มี 89 แห่ง เหลือ 79 แห่ง ในปัจจุบัน ขณะที่ สถานพยาบาลรัฐบาลกลับปรับเพิ่มจาก 154 แห่ง เป็น 159 แห่ง ในช่วงเดียวกัน

น.พ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ยืนยันว่า สาเหตุที่โรงพยาบาล (ร.พ.) เอกชนขอออกจากระบบประกันสังคม ไม่ใช่มาจากปัญหาการขาดทุนเหมือนกรณีของบัตรทองแน่ แต่เพราะว่า ร.พ. นั้น ๆ เปลี่ยนนโยบาย เช่น ต้องการยกระดับการให้บริการ การเน้นให้บริการเฉพาะทาง และจากสถานที่ตั้งของ ร.พ.ในเครือ อยู่ใกล้กัน จึงไม่ต้องการจะแย่งลูกค้ากันเอง

โดยในปี 2561 มี ร.พ. 3 แห่ง ที่แจ้งออกจากระบบ คือ ร.พ.ยันฮี กรุงเทพฯ, ร.พ.เกษมราษฎร์รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และ ร.พ.ศรีระยอง จ.ระยอง (ผู้ประกันตนยังสามารถใช้บริการได้จนถึง 31 ธ.ค. 60) และมี ร.พ.เอกชน ที่ยื่นสมัครเข้ามามากกว่า 3 แห่ง แต่ สปส. เลือกไว้เพียง 2 แห่ง

“ขอยืนยันว่า ต่างจากโครงการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (กรณีของบัตรทอง) ร.พ.เอกชน ถือว่าเป็นพันธมิตรช่วยกันมากว่า 20 ปี บางแห่งอยู่มาตั้งแต่ สปส. ปี 2533 ก็มี ทั้งนี้ในปี 2561 มีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการประกันสังคมทั้งสิ้น 238 แห่ง เป็นสถานพยาบาลรัฐบาล 159 แห่ง เอกชน 79 แห่ง และสถานพยาบาลเอกชนที่สมัครเข้าใหม่อีก 2 แห่ง”


TP15-3306-4

สปส. ไม่ได้มองแค่ว่า ร.พ.นั้น ไม่ขาดทุน แต่คำนึงว่า ต้องจ่ายให้เพียงพอ มีเหลือเพื่อการพัฒนา ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา สปส. จึงได้ปรับการจ่าย โดยเพิ่มเงินเข้าไปในระบบอีกประมาณกว่า 1,500 ล้านบาท หรือเพิ่ม 10-11% โดยเป็นการเพิ่มสำหรับการรักษาโรคเจ็บป่วยทั่วไปประมาณ 1 ใน 3 คือ 480-500 ล้านบาท ส่วนอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท เพิ่มในโรคเรื้อรัง/โรคที่มีความซับซ้อน

รายจ่ายบริการทางการแพทย์ที่เพิ่ม แบ่งเป็น 1.เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัวจากเดิมที่ 1,460 บาท/คน/ปี มาเป็น 1,500 บาท/คน/ปี, 2.เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ กรณีโรคเรื้อรังที่เป็นภาระเสี่ยง จากเดิม 432 บาท/คน/ปี เป็น 447 บาท/คน/ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5,364 ล้านบาท และ 3.เพิ่มค่ารักษาผู้ป่วยในรายที่มีค่าใช้จ่ายสูง จากเดิม 560 บาท/คน/ปี เป็น 640 บาท/คน/ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้น เป็นเงิน 7,680 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรณีการรักษาผู้ป่วยในรายที่มีค่าใช้จ่ายเกิน 1 ล้านบาท ได้เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ให้สถานพยาบาลในอัตรา 80% ของค่าใช้จ่ายที่เกิน 1 ล้านบาท ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3

“การเพิ่มงบเข้าไปทั้งในโรคซับซ้อน ป่วยเรื้อรัง ทำให้ ร.พ. มีความมั่นใจ และถ้าบวกทุกอย่าง ประกันสังคมจ่ายค่าบริการทางการแพทย์รายหัวประมาณกว่า 3,300 บาท ซึ่งรับรองได้ว่า เป็นการจ่ายที่ไม่ต่ำกว่าระบบของบัตรทอง”

เลขาธิการ สปส. ยอมรับว่า หลังจากได้พูดคุยกับ ร.พ. พบว่า ปัญหาของ สปส. คือ การจ่ายเงินอาจช้า เนื่องจากมีการเบิกสูงเกินจึงต้องตรวจสอบ ซึ่งเราจะปรับเกณฑ์การจ่ายให้เร็วขึ้น เช่น กรณีที่เป็นการจ่ายโดยไม่มีข้อสงสัย/กรณีเหมาจ่าย ให้จ่ายทุกวันที่ 15 ของเดือน ส่วนกรณีโรคซับซ้อน พยายามให้จ่ายได้เดือนต่อเดือนเช่นเดียวกับกรณีโรคเรื้อรัง จากเดิมที่จ่าย 6 เดือนครั้ง อยู่ระหว่างปรับปรุงให้จ่ายได้เดือนต่อเดือน มั่นใจว่า ภายในปี 2561 จะได้ครบถ้วน

สำหรับการดำเนินงานของกองทุนประกันสังคม ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2560 มีเงินสมทบและผลตอบแทนสะสมเป็นเงิน 1.637 ล้านล้านบาท ประกอบด้วยเงินสมทบ 1.145 ล้านล้านบาท และผลตอบแทนสะสม 4.916 แสนล้านบาท โดยผลตอบแทน 6 เดือนแรก เพิ่มขึ้น 2.522 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่ม 5.41% เทียบปี 2559 ทั้งปีผลตอบแทนเพิ่ม 5.274 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มจากสิ้นปี 2558 ที่ 12.75%

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19-21 ต.ค. 2560

e-book