ไม่หวั่น “อีวีจีน” บุก! เชียร์ปักฐานไทย

19 ต.ค. 2560 | 08:45 น.
เอกชนชี้! ยังไม่น่าห่วง “รถยนต์ไฟฟ้าจีน” ตีตลาดไทย ทำส่งเสริมลงทุนเป๋ ระบุ ตัวเลข 5 ปี นำเข้ารถไฟฟ้าจีนแค่ 7 คัน ชี้ชัด! เหตุยังไม่จูงใจ เนื่องจากราคายังสูง เชียร์ดึงจีนปักฐานผลิตในไทยป้อนอาเซียน ต้นทุนต่ำกว่า ชี้! “3 ปัจจัย” ฉุดอีวีไทยโตช้า

กรณีไทยและจีนได้ลดภาษีการนำเข้า “รถยนต์ไฟฟ้า (รถอีวี)” ระหว่างกัน ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ลงเป็น 0% มาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งหลายฝ่ายเกรงจะส่งผลกระทบต่อการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ที่รัฐบาลไทยกำลังให้การสนับสนุนค่ายรถยนต์นั้น

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ ให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีข้อมูลของกรมศุลกากรระบุระหว่างปี 2555-2559 ไทยมีการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเข้ามา ภายใต้สิทธิ ACFTA เพียง 7 คัน มูลค่ารวม 8.7 ล้านบาทนั้น ในข้อเท็จจริงอาจจะเป็นรถยนต์ตัวอย่าง หรืออาจเป็นรถไฟฟ้าประเภทอื่น ที่ไม่ใช่รถยนต์นั่งไฟฟ้า เช่น เป็นรถกอล์ฟไฟฟ้า หรือรถโฟล์ก ลิฟต์ไฟฟ้า ก็เป็นไปได้

 

[caption id="attachment_205851" align="aligncenter" width="377"] พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล[/caption]

ทั้งนี้ การนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าเข้ามาในไทยถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะจะต้องมีการลงทุนตั้งสถานีชาร์จไฟรองรับ ขณะรถยนต์นั่งไฟฟ้าในจีนก็ถือว่าเพิ่งเริ่มต้น ยังผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์หลักแสนคันต่อปี (จากปี 2559 จีนมียอดขายรถยนต์ใหม่ 29.4 ล้านคัน) อย่างไรก็ดี จีนมีเทคโนโลยีในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับต้น ๆ ของโลก และกำลังเตรียมการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก อาทิ “จี๋ลี่” บริษัทจีนซึ่งเป็นเจ้าของวอลโว่ ตั้งเป้าจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 1 ล้านคัน ภายในปี 2568 (2025) ขณะเดียวกัน ค่ายเรโนลต์-นิสสัน, ฟอร์ด และเจนเนอรัล มอเตอร์ส ก็กำลังพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในจีน

“รถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากจีนเข้าใจว่าจะเป็นรถตัวอย่าง หรือเป็นรถไฟฟ้าแบบอื่นที่ไม่ได้มาวิ่งตามถนน เพราะวิ่งยังไม่ได้ ยังไม่มีสถานีชาร์จแบตเตอรี่ ต้องมีสถานีชาร์จก่อน คนถึงจะซื้อรถ ดังนั้น ตัวเลขนำเข้ามา 7 คัน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คงไม่ใช่รถยนต์นั่งไฟฟ้า เพราะรถยนต์ไฟฟ้าบ้านเราเพิ่งมาดังช่วง 1-2 ปีนี้ ขณะที่ประเทศอื่นเขาเริ่มผลิตและทำตลาดแล้ว”

นายพรศิลป์ กล่าวอีกว่า ตลาดรถยนต์นั่งไฟฟ้าในไทยจะขยายตัวทดแทนรถใช้น้ำมันได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นกับ 3 ปัจจัย คือ 1.ทำแล้วมีตลาดรองรับหรือไม่ เพราะเท่าที่ทราบ ราคารถยนต์นั่งไฟฟ้าของจีน ณ ปัจจุบันยังสูงเฉลี่ยคันละ 9 แสนบาท 2.นโยบายของรัฐบาลต้องประกาศให้ชัดเจน เช่น ภายใน 10 ปี จะเปลี่ยนการใช้รถจากน้ำมันเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด จึงจะจูงใจให้ค่ายรถยนต์ขอรับการส่งเสริมและทำการผลิตรองรับ และจะจูงใจในข้อที่ 3 คือ การลงทุนตั้งสถานีชาร์จแบตเตอรี่ขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามมา มองว่า รถยนต์นั่งไฟฟ้าสำหรับประเทศไทยยังทำได้ไม่เร็วนักกว่าจะได้รับความนิยมและติดตลาด

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อนาคตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนมีศักยภาพบุกตลาดไทยและตลาดอาเซียนได้ เพราะจีนมีศักยภาพและมีเทคโนโลยีที่สูงทางด้านนี้ และสินค้าจีนมีคุณภาพ ไม่ใช่ด้อยคุณภาพเหมือนในอดีต หากเป็นไปได้ ไทยควรดึงจีนเข้ามาลงทุนผลิตในไทย เพราะไทยเป็นอีกฐานผลิตหนึ่งที่จะมีการลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้ารองรับในอนาคต ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าและอยู่ใกล้ตลาดอาเซียนมากกว่า

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3

แหล่งข่าวจากวงการรถยนต์ กล่าวว่า ขณะนี้ค่ายรถยนต์มีแผนจะนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) เข้ามาจำหน่ายในไทย 3 ยี่ห้อ ได้แก่ Nissan Leaf, Tesla และ FOMM ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจของตลาด

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในความตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) อาเซียน-จีน (ACFTA) ไทยและจีนต่างลดภาษีนำเข้ารถยนต์นั่งไฟฟ้าระหว่างกันลงเป็น 0% มาตั้งแต่ปี 2553 โดยรถยนต์ไฟฟ้าถูกจัดอยู่ในหมวดลดภาษีอื่น ๆ เนื่องจากในขณะนั้น กรมศุลกากรจำแนกพิกัดภาษีรถยนต์นำเข้าแบ่งเป็นเพียง 2 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ใช้น้ำมันเบนซิน และรถยนต์ใช้ดีเซล อย่างไรก็ดี ข้อกังวลหลายฝ่ายที่เกรงการลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนเป็น 0% แล้วจะกระทบการส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ในไทยนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์, อุตสาหกรรม, คลัง, คมนาคม และพลังงาน จะได้หารือถึงมาตรการและทางออกในเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมาตามหลักการของเอฟทีเอ สามารถเจรจาแก้ไขข้อผูกพันได้ แต่ต้องหามาตรการชดเชยให้กับประเทศที่เสียประโยชน์

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์โดยความร่วมมือของกรมศุลกากร ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2560 การค้า 2 ฝ่าย ไทย-จีน มีมูลค่ารวม 1.64 ล้านล้านบาท โดยไทยส่งออก 6.47 แสนล้านบาท และนำเข้า 9.98 แสนล้านบาท ไทยขาดดุลการค้าจีน 3.51 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ไทยขาดดุลการค้าจีน 4.72 แสนล้านบาท ขณะที่ การส่งออกของไทยไปจีนและการนำเข้าจากจีนของไทย ขยายตัว 27.1 และ 1.7% ตามลำดับ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19-21 ต.ค. 2560

e-book