บอลโลกส่อจอดำ! ลุ้น “ทศภาค-กสทช.” เสียบปลั๊ก

19 ต.ค. 2560 | 04:30 น.
คนไทยอาจวืดเกาะติดขอบจอ “บอลโลก 2018” ที่รัสเซีย เหตุไร้วี่แววผู้คว้าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด กฎ Must Have กสทช. ทำเจ็บ! ควักเงินก้อนโตต้องยิงผ่านฟรีทีวีดิจิตอล เผย ช่อง 3 ยื่น ถูก “ฟีฟ่า” ตีกลับ อ้างราคาต่ำเกิน ... “ทศภาค” สนใจ เร่งศึกษาก่อนเคาะ

“ฟุตบอลโลก” ถือเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมาก มีผู้ชมทั่วโลกมาถึง 4,000 ล้านคน ทว่าเหลือระยะเวลาเพียง 8 เดือน ที่การแข่งขัน “ฟุตบอลโลก 2018” รอบสุดท้ายจะอุบัติขึ้น โอกาสที่ทีวีเมืองไทยจะจอดำยิ่งเป็นไปได้สูง ล่าสุด จากจำนวน 134 ประเทศ ที่มีผู้ได้รับสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันเวิลด์คัพ 2018 ไปแล้วนั้น ไม่มีรายชื่อประเทศไทย ขณะที่ ประเทศในเอเชียที่ได้ลิขสิทธิ์ไปแล้ว มีทั้งญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, สิงคโปร์, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย

ยิ่งทัวร์นาเมนต์นี้มีขึ้นที่รัสเซีย ซึ่งมีเวลาต่างกับไทยเพียง 3 ชั่วโมง การแข่งขันมีขึ้นในช่วงเวลา 19.00 - 22.00 น. เป็นเวลาที่คนไทยจะสามารถชมและเชียร์อย่างจุใจ รวมทั้งผู้ประกอบการห้างร้าน เรียกได้ว่า ไพรม์ไทม์เมื่อเทียบกับฟุตบอลโลกทุกครั้ง ยิ่งน่าเสียดาย

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ การแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 มีเงินสะพัดกว่า 2.16 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% ดังนั้น การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งน่าจะมีขึ้นในเดือน มิ.ย. 2561 นี้ คาดว่า จะมีคนไทยรับชมเพิ่มมากขึ้น และจะมีเงินสะพัดมากขึ้นอย่างแน่นอน เห็นได้จากการแข่งขันรอบคัดเลือกในช่วงที่ผ่านมาจากการถ่ายทอดสดของช่อง 3

ความสำเร็จจากเรตติ้งที่ได้ ทำให้ “ช่อง 3” เอง ก็ต้องการได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบอลโลก 2018 ในรอบสุดท้ายมาครอง เพื่อใช้เป็นจุดขายในการเรียกเรตติ้งให้ทะยานพุ่ง จึงยื่นเสนอผลตอบแทนในการถ่ายทอดสดให้กับ “ฟีฟ่า” แต่ก็ต้องตกไป เพราะฟีฟ่ามองว่า 800-900 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ต่ำเกินไป เพราะราคาที่ฟีฟ่าอยากเห็นอยู่ที่ 2,000 ล้านบาท

Screen Shot 2560-10-19 at 10.57.37

… “อาร์เอส” ถอยฉาก! ...
ขณะที่ “ค่ายอาร์เอส” ที่คว้าสิทธิ์การถ่ายทอดสดเวิลด์คัพ 2014 ประกาศชัดเจนว่า ไม่สนใจลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 หลังต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะ “กฎ Must Have" หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญ ที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปหรือฟรีทีวี ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 จึงต้องถูกบังคับให้ถ่ายทอดสดทั้ง 64 แมตช์ ทางช่องฟรีทีวีด้วย

แม้จะมีกระแสข่าวว่า ช่องเอนเตอร์เทนเมนต์ดังจะจับมือกับค่ายมือถือร่วมกันประมูลคว้าลิขสิทธิ์ทัวร์นาเมนต์ลูกหนังโลกครั้งนี้ ซึ่งจะต้องใช้เงินประมูลมากกว่า 2,000 ล้านบาท ถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ทำให้โอกาสในการสร้างกำไรเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่กลุ่มทุนเหล่านี้จะได้ คือ การตอกย้ำแบรนด์และการสร้างแบรนด์รอยัลตีในกลุ่มผู้บริโภค แต่จนถึงวันนี้ กลุ่มนี้ก็ยังไม่ได้รับการยืนยันว่า ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันในครั้งนี้

… “ทศภาค” รับสนใจ ...
ล่าสุด สปอตไลต์ส่องไปยัง “กลุ่มทศภาค” หรือ บริษัท ทศภาค จำกัด บริษัทในเครือไทยเบฟเวอเรจ อีกกลุ่มที่คุ้นเคยกับการประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬาระดับโลก โดยเป็นผู้ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2002 รวมทั้งเป็นผู้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในการชมและเชียร์ฟุตบอลโลก แบบไม่มีโฆษณาขึ้น จึงถูกจับตามองว่า ด้วยเพราะมีทุนหนา (จากเบียร์ช้าง) มีสินค้าในมือที่สามารถร่วมเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการโฆษณารวมถึงจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้มากมาย และที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในสปอนเซอร์หลัก จึงน่าจะมีศักยภาพมากพอในการเข้าร่วมเสนอตัวเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ในครั้งนี้

generic

นายอนุชาติ พิรุณธนาไพศาล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทศภาค จำกัด เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจ แต่ก็มีข้อจำกัดและมีกฎระเบียบควบคุมมาก ทั้งกฎของ กสทช. รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ทำให้ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ต้องนำมาคิดมากขึ้น ซึ่งทศภาคก็สนใจเช่นเดียวกับหลาย ๆ บริษัท แต่การจะตัดสินใจว่าจะลงทุนซื้อลิขสิทธิ์หรือไม่ ต้องพิจารณารอบด้าน เพราะจะคิดถึงแต่ผลกำไรอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องคำนึงถึงผู้บริโภคและสังคม ที่ต้อง Win Win กันทุกฝ่าย แต่การเสนอค่าตอบแทนให้กับฟีฟ่า คาดว่าจะมีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเดือน ต.ค. นี้

“เราเพิ่งเริ่มศึกษา เพราะได้ข้อมูลว่า ยังไม่มีผู้ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2018 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เบื้องต้น เชื่อว่า การจะลงทุนต้องใช้เม็ดเงินสูง เพราะต้องลงทุนทั้งค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดให้กับฟีฟ่า และการลงทุนในด้านบรอดแคสต์ การตลาดที่จะต้องหาพาร์ตเนอร์มาร่วมเป็นสปอนเซอร์ และการจัดกิจกรรมที่คาดว่าจะเป็นตัวเงินที่สูงเช่นกัน”

ส่วนหนึ่งของลิขสิทธิ์ค่าตอบแทนที่สูงเกิดจากเมื่อครั้งที่ค่าย CTH ไปประมูลพรีเมียร์ลีก 3 ฤดูกาล ด้วยงบประมาณที่สูงถึง 1 หมื่นล้านบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3

นอกจากนี้ ไม่เพียงแต่ความคุ้มค่า ทศภาคเองมองว่า วันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคแตกต่างจากเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ที่บริษัทถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2002 ที่ยังไม่มีเรื่องของกฎ Must Have ไม่มีเรื่องของออนไลน์ การพิจารณาหรือวางแผนเพื่อให้ได้ลิขสิทธิ์จึงต้องคิดแบบ 360 องศา

… กสทช. ขอเวลาแก้ปม ...
จากกฎ Must Have ของ กสทช. ที่กลายเป็นปัญหาหลัก ทำให้เกิด “จอดำ” ในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 นี้ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และรองประธาน กสทช. ยังเชื่อว่า จะไม่เกิดกรณีจอดำ ส่วน กสทช. จะเข้าร่วมในการรับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดครั้งนี้หรือไม่ ขอศึกษารายละเอียดก่อน

“ขณะนี้ยังไม่รับทราบว่า ประเทศไทยไม่มีผู้ได้รับลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 เพราะต้องรอให้ถึงกำหนดปิดรับข้อเสนอก่อน” พ.อ.นที กล่าวขณะเดินทางอยู่ต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19-21 ต.ค. 2560

e-book