ธุรกิจแห่งการแบ่งปัน

18 ต.ค. 2560 | 23:15 น.
MP25-3306-B เดือนตุลาคม พ.ศ.2560 เป็นเดือนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคนไทยทุกคน เป็นเดือนที่เราต้องตั้งสติ รวบรวมกำลังใจ น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทำให้ผมรำลึกถึงคำสอนของพระองค์ท่านเกี่ยวกับเรื่องการทำงาน การทำความดี การแบ่งปัน

พระราชดำรัสอันทรงคุณค่าของพระองค์ท่านมีมากมาย แต่มีประโยคหนึ่งที่ผมน้อมนำมาปฏิบัติเสมอ และอยากแบ่งปันให้ชาว Startup ที่กำลังเริ่มดำเนินธุรกิจหรือดำเนินธุรกิจได้ประสบความสำเร็จแล้วก็ตามน้อมนำไปปฏิบัติร่วมกัน ประโยคนั้นคือ “ทำงานกับฉัน ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากการมีความสุขร่วมกันในการทำประโยชน์ให้กับผู้อื่น” ผมเคยได้ยินประโยคนี้หลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงเดือนนี้เห็นหลายบริษัทอัญเชิญพระราชดำรัสนี้ขึ้นป้ายบิลบอร์ดใหญ่ ผมเชื่อมาโดยตลอดว่าในทุกการทำงาน หากได้ทำเพื่อประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ย่อมทำให้การทำงานนั้นยั่งยืน และเป็นประโยชน์อย่างสูงสุด

ยกตัวอย่างกรณีศึกษาของบริษัทที่อาจเรียกว่าเป็น Startup ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งในแง่ยอดขาย ชื่อเสียง มูลค่าแบรนด์ และการทำเพื่อสังคม “รองเท้า TOMS” เกิดขึ้นในปี 2006 โดย เบลค ไมคอสกี้ (Blake Mycoskie) เบลคเดินทางไปท่องเที่ยวที่อาร์เจนตินาในปี 2002 เขาพบว่าเด็กๆ ไม่มีรองเท้าใส่กันมาก ทำให้เขาถึงกับไปเรียนทำรองเท้ากับชาวบ้านในท้องถิ่น โดยรองเท้าของที่นั่นเรียกว่า Alpargata ซึ่งเป็นทรงฮิตตลอดกาลของ TOMS ในเวลาต่อมา หลังจากมีแรงขับเคลื่อนที่จะทำเพื่อสังคมอย่างแรงกล้า เขาได้เปิดบริษัทที่อเมริกาภายใต้แบรนด์ TOMS ในเดือนพฤษภาคม 2006 โดยมีคอนเซ็ปต์ที่ว่า With every product you purchase, TOMS will help a person in need. One for One. เรียกว่าซื้อ 1 บริจาค 1 ทำให้ปัจจุบัน TOMS บริจาครองเท้าไปมากกว่า 2 ล้านคู่ การระดมทุนให้ TOMS ครั้งแรกของเขาได้มาจากการขายบริษัทออนไลน์ของเขาด้วยมูลค่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นำเงินมาตั้งบริษัท และจ่ายค่าคอมมิสชันให้ผู้ผลิตรองเท้าในล็อตแรก 250 คู่ เมื่อคอนเซ็ปต์การทำเพื่อสังคมของ TOMS ถูกประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ยอดสั่งซื้อจากออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา สเปน ก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วมากกว่ากำลังการผลิตถึง 9 เท่า และทำยอดขายได้ถึง 10,000 คู่ในปีแรก และแน่นอนได้บริจาครองเท้าไป 10,000 คู่ด้วยเช่นกัน

MP25-3306-1B ในการ Startup ธุรกิจของเบลค บริษัทของเขามีพนักงานเต็มเวลา 7 คน พนักงานฝ่ายขาย 6 คน เด็กฝึกงาน 8 คน (Lean Startup มากๆ) เปิดตัวรองเท้า TOMS 15 รุ่นสำหรับชายและหญิง รวมถึงรุ่นพิเศษแบบลิมิเต็ดที่ชวนศิลปินมาออกแบบ (กระตุ้นแบรนด์ให้คึกคักได้ดีมากๆ) ขายผ่านเว็บไซต์เป็นหลัก โดยช่วงแรกวางขายในร้านเพียง 40 แห่งในสหรัฐอเมริกา (ช่องทางการจัดจำหน่ายเป็นอีกปัจจัยแห่งความสำเร็จ เพราะการขายออนไลน์กำไรสูงมาก แน่นอนมีผู้กล่าวว่าต้นทุนการผลิตของ TOMS ตํ่ามาก แต่ลูกค้าแคร์ซะที่ไหน ก็ฉันจะบริจาค)

ไม่เพียงแต่รองเท้าเท่านั้น TOMS ยังผลิตแว่นตาภายใต้คอนเซ็ปต์ One for One. ในปี 2011 และเช่นเคย แว่นทุกชิ้นที่ลูกค้าซื้อ บริษัทจะนำเงินไปบริจาคในการผ่าตัดดวงตา รักษาโรคตา รวมถึงบริจาคแว่นตาด้วย แม้ในปัจจุบันจะมีการขายหุ้นไปให้กับบริษัทอื่นเข้ามาถือหุ้น แต่เบลคก็ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นหลัก และดำรงตำแหน่ง CSG หรือ Chief Shoe Giver เพื่อรักษาแนวคิดการเป็นบริษัทเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise อยู่ดี

ปัจจุบัน TOMS บริจาครองเท้าให้กับกว่า 70 ประเทศทั่วโลก มีร้านค้ามากกว่า 500 ร้านค้าทั่วโลก อาทิ Neiman Marcus, Nordstrom, and Whole Foods Market รวมทั้งในประเทศไทยที่ Central Embassy และ Mega Bangna

นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการประกอบธุรกิจเพื่อสังคม เป็นการทำความดีเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง แนวคิดของ TOMS เป็นแนวคิดเพื่ออนาคตของทุกคน (TOMorrow) ชาว Startup ลองคิดโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นมาสักโมเดล แล้วลองทำดู มันอาจจะไม่ง่าย แต่อย่างน้อยเราก็ได้ลองทำ ไม่รู้ว่ายอดขายจะดีหรือไม่ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ทำเพื่อสังคมจริงไหมครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว