Digital (Currency) Disruption

19 ต.ค. 2560 | 23:15 น.
TP10-3306-2C ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นาง คริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีข่าวซีเอ็นบีซี ของสหรัฐอเมริกาไว้ได้อย่างน่าสนใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของสกุลเงินดิจิตอล หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า คริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) ว่า โลกจะได้เห็นภาวะ Massive Disruption มากขึ้นในภาคการเงินของโลก ที่จะได้รับแรงสั่นสะเทือนจากความนิยมของสกุลเงินดิจิตอล

คำว่า “ดิจิตอล ดิสรัปชั่น” ก็คือสภาวะที่ธุรกิจการเงินในโลกดิจิตอลที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นนั้น กำลังส่งผลกระทบต่อธุรกิจและภาคการเงินแบบเดิมๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เช่น คนขับแท็กซี่รูปแบบปกติกำลังได้รับผลกระทบจากการให้บริการของแท็กซี่อูเบอร์หรือแกร็บแท็กซี่ ที่ใช้แพลตฟอร์มการให้บริการผ่านระบบดิจิตอล หรือกรณีของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในเมืองไทย ลดการเปิดสาขา หรือแม้กระทั่งปิดสาขา แล้วหันมาเปิดให้บริการผ่านระบบออนไลน์แบบดิจิตอลมากขึ้น เป็นต้น

ในโลกของเงินก็เช่นกัน สกุลเงินดิจิตอล กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงมากขึ้น นางคริสติน ลาการ์ด ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้กำหนดนโยบายทางการเงิน รวมไปถึงธนาคารกลางของแต่ละประเทศ จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการมาถึงของสกุลเงินดิจิตอลเหล่านี้มากขึ้น เพราะว่ากำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดการเงินโลกครับ

TP10-3306-C ตัวอย่างเช่น เฉพาะในปีนี้ ราคาของ “บิตคอยน์” (Bitcoin) สกุลเงินดิจิตอล อันดับ 1 ของโลกนั้นได้ปรับขึ้นไปแล้วถึง 400% และทะลุหลัก 5,000 ดอลลาร์ต่อ 1 บิตคอยน์ไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (12 ต.ค.) และราคาได้ทำสถิติใหม่ที่ 5,856.10 ดอลลาร์ต่อบิตคอยน์ โดยมาร์เก็ตแคปของสกุลเงินดิจิตอลทั้ง 11 สกุลนั้นก็แซงหน้ามาร์เก็ตแคปของสถาบันการเงินรายใหญ่ของโลกไปแล้วด้วย เรามาดูกันครับ

มูลค่าตลาดที่ไหลเวียนอยู่ทั่วโลกของบิตคอยน์ในขณะนี้อยู่ที่ 9.67 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่มูลค่าตลาดของธนาคารโกลด์แมน ซากส์ อยู่ที่ 9.29 หมื่นล้านดอลลาร์ และของธนาคารมอร์แกน สแตนเลย์ อยู่ที่ 8.45 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

โดยขณะนี้มีการเก็งกันในตลาดว่า ราคาบิตคอยน์จะทะลุ ไปที่ 6,000 ดอลลาร์ด้วยซํ้า ซึ่งหากวิเคราะห์จากสถิติในช่วงปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องยากนัก

ในขณะนี้ แม้ว่ารัฐบาลจีนจะประกาศเข้าควบคุมบิตคอยน์มากขึ้น ทำให้ราคาบิตคอยน์ ชะลอตัวลงไปบ้าง เพราะจีนถือว่าเป็นผู้เล่นบิตคอยน์รายใหญ่ แต่ทว่าเงินดิจิตอลสกุลนี้ ก็ยังได้รับแรงหนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ตอบรับกับบิตคอยน์แบบเป็นมิตรกว่า เช่น การออกกฎหมายให้บิตคอยน์ สามารถใช้ชำระได้ตามกฎหมาย หรือยอมให้มีการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์เป็นเงินจริงๆ

แม้ว่า ทั้งรัฐบาลจีน และรัฐบาลญี่ปุ่น จะมีการตอบรับสกุลเงินดิจิตอลในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ฝ่ายหนึ่งเป็นมิตร อีกฝ่ายหนึ่งต้องเข้าควบคุม แต่กระนั้นก็ถือว่า ทั้ง 2 ประเทศ มีการตอบรับต่อภาวะ Digital Disruption ที่ชัดเจน
ส่วนในประเทศไทยเอง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บอกเพียงแต่ว่า ไม่มีการรองรับบิตคอยน์ตามกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้ห้าม นั่นหมายความว่า รัฐบาลไม่รองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับบิตคอยน์

พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ได้ห้าม แต่ก็ไม่ช่วยเหลือ ถ้าหากเกิดความเสียหายขึ้นมา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของประชาชนพิจารณาความเสี่ยงกันเอง

ก็คงต้องย้อนไปยืมคำพูดของ นางคริสติน ลาการ์ด มายํ้ากันอีกครั้งล่ะครับ ว่าธนาคารกลาง และเจ้าหน้าที่ผู้กำหนดนโยบายทางการเงินของแต่ละประเทศควรต้องพิจารณาทบทวนกับภาวะที่กำลังเกิดขึ้นในโลกดิจิตอล ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด “ดิจิตอล ดิสรัปชัน” ในโลกการเงินกับสกุลเงินดิจิตอล

ไม่ใช่ปล่อยไปเฉยๆ จะห้ามก็ห้ามไป จะไฟเขียวรับรองให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ควรประกาศออกไป

เพราะมาถึงในวันนี้ต้องยอมรับกันแล้วล่ะครับว่าเราหนีคำว่า Digital ไม่ได้จริงๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว