12 ชาติ รุมจ่อขึ้น! ภาษีสินค้าไทย ใช้ 'AD-SG' กีดกัน 23 รายการ ชี้ 2 นโยบายทรัมป์ทุบซํ้า

19 ต.ค. 2560 | 13:32 น.
ไทยอ่วม 12 คู่ค้า สั่งเปิดไต่สวนใช้มาตรการเอดีและเซฟการ์ดสินค้า 23 รายการ นักวิชาการสั่งจับตากฎหมาย Buy American-ทรัมป์จี้รื้อกฎแหล่งกำเนิดสินค้าในนาฟต้า กระทบส่งออกไทยไปสหรัฐฯ-เม็กซิโก-แคนาดา

แม้การส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ดี ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 8.8% แต่อีกด้านหนึ่งตรวจสอบพบคู่ค้าอยู่ระหว่างการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน(AD/CVD) รวมถึงภาษีปกป้องจากการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (SG หรือเซฟการ์ด) กับสินค้าไทยจำนวนมาก

จากการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์พบว่า ณ ปัจจุบันมี 12 ประเทศที่อยู่ระหว่างการเปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการข้างต้นกับสินค้าไทยรวมทั้งสิ้น 12 ประเทศ รวม 23 รายการ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล ตูนิเซีย แซมเบีย ยูเครน ตุรกี จีน อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย โดย 5 อันดับแรกที่อยู่ระหว่างการไต่สวนเพื่อใช้มาตรการกับสินค้าไทย ได้แก่ ตุรกี, สหรัฐฯ, อินเดีย, ตูนิเซีย และจีน ตามลำดับ (กราฟิกประกอบ)

TP8-3306-A สินค้าไทยที่อยู่ระหว่างถูกเปิดไต่สวน อาทิ แปรงสีฟัน, เครื่องซักผ้าในบ้านขนาดใหญ่, กระดาษพิมพ์, ขวดแก้ว, อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์, เส้นใยโพลีเอสเตอร์สังเคราะห์สั้น, เหล็กเสริมคอนกรีต, ท่อเหล็กกล้าไร้สนิม,ไฟเบอร์บอร์ด, PET film และโลหะซิลิคอน เป็นต้น

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบมาตรการของคู่ค้าที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทยรอบ 9 เดือนแรกปีนี้ ส่วนใหญ่ยังเป็นมาตรการเดิมๆ เช่น มาตรการที่เป็นอุปสรรคเทคนิคทางการค้า (TBT) มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ

อย่างไรก็ดีมี 2 สถานการณ์ที่ต้องติดตามเพราะอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในอนาคตได้ กรณีแรก นโยบาย Buy American ซึ่งเป็นกฎหมายเชิงนโยบายที่กำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯต้องจัดซื้อจัดจ้างและเลือกซื้อสินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นอันดับแรก ล่าสุดสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) อยู่ระหว่างการเปิดขอรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากผู้ประกอบการของสหรัฐฯ เพื่อใช้ประกอบการศึกษาผลกระทบ อย่างไรก็ดีหากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะมีผลกระทบกับสินค้าไทยไม่มากก็น้อย เพราะต่อไปบริษัทอเมริกันที่ร่วมประมูลจัดซื้อจัดจ้างให้กับรัฐบาลจะต้องซื้อสินค้าที่ผลิตในสหรัฐฯเป็นอันดับแรก จากที่ผ่านมาสามารถซื้อจากที่ใดก็ได้

กรณีต่อมา ทรัมป์อยู่ระหว่างการเจรจากับเม็กซิโกและ แคนาดา เพื่อขอแก้ไขกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin:ROO) ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟต้า) เป้าหมายเพื่อลดการขาดดุลการค้า จากเดิมกำหนดให้สินค้าที่ค้าขายและจะได้รับการยกเว้นภาษีระหว่างกันต้องใช้วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่ผลิตใน 3 ประเทศสัดส่วน 62.5% ให้เพิ่มเป็น 85% (ในจำนวนนี้ต้องเป็นวัตถุดิบจากสหรัฐฯ สัดส่วน 50% และอีก 35% จากเม็กซิโกหรือแคนาดา)

“ขณะนี้เม็กซิโกและแคนาดา ยังไม่ยอมรับตามที่สหรัฐฯเสนอในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะจะมีผลกระทบกับการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา เช่นในกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์อย่างแน่นอน”

ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยกล่าวว่า นโยบาย Buy American คงไม่ส่งผลกระทบกับสินค้าไทยทุกสินค้า เพราะหลายรายการสหรัฐฯไม่สามารถผลิตได้เองทั้งหมด จากค่าแรงสูง ที่ยังจำเป็นต้องมีการนำเข้า เช่น ผัก ผลไม้ สินค้าเกษตรแปรรูป รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องแต่งกายต่างๆ เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,306 วันที่ 19 - 21 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว