การดูแลผู้สูงวัย ในสภาวะวิกฤตการณ์น้ำท่วม

15 ต.ค. 2560 | 11:46 น.
ช่วงนี้หลายจังหวัดของประเทศเกิดอุทกภัยร้ายแรง โดยเฉพาะจังหวัดทางภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหลือ ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา นักวิชาการด้านสังคมผู้สูงวัย นายกสมาคมบ้านปันรัก ได้ให้คำแนะนำโดยเฉพาะเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุในช่วงน้ำท่วม ที่ลูกหลานควรจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานไว้ใกล้มือผู้สูงอายุ ดังนี้

1. น้ำและอาหาร ต้องเตรียมน้ำดื่มที่สะอาดพร้อมกับอาหารที่รสไม่จัดมากนัก ทั้งยังควรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย เพื่อที่ให้ท่านได้รับสารอาหารอย่างพอเพียงโดยควรเตรียมไว้ ไม่ต่ำกว่า 2- 3 วัน เผื่อในกรณีที่ลูกหลานไม่สามารถออกไปหาเสบียง จะได้พอมีเวลาไว้แก้ไขปัญหา

2. ยารักษาโรค ต้องเตรียมทั้งยาสามัญประจำบ้าน และยาประจำตัว ต้องสำรองให้ดี อย่าให้ขาด และควรติดฉลากให้ชัดเจน ว่ายาตัวไหนทานมื้อไหน ขนาดเท่าใด และให้ตั้งนาฬิกาให้ปลุกเมื่อถึงเวลาทานยาด้วย เพราะช่วงวิกฤติน้ำท่วมนั้น ลูกหลานอาจจะไม่สามารถดูแลท่านได้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเหมือนยามปกติ

3. เครื่องนุ่งห่ม ต้องเตรียมสำรองเสื้อผ้าที่แห้งไว้ตลอดเวลา เพราะในบางครั้งชุดที่สวมใส่อยู่อาจะเปียกน้ำได้ ซึ่งอาจจะทำให้ป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะบริเวณอก หรือปอด และควรเตรียมเครื่องประทินผิว เช่น แป้ง หรือผงลดอาการคัน ครีมบำรุงผิว เพื่อช่วยให้ผิวพรรณเกิดความชุ่มชื่น นุ่มนวลช่วยให้เกิดความรู้สึกสบายตัวซึ่งจะช่วยให้จิตใจผ่อนคลายขึ้นได้

4. ที่พักอาศัย ต้องจัดเตรียมสภาพบ้านพักอาศัยให้ปลอดภัยจากสัตว์ที่จะตามมากับน้ำเช่น งูหรือตะขาบ ยกเตียงท่านให้พ้นจากน้ำที่ท่วมขัง และควรถอดปลั๊กไฟหรือสับเบรกเกอร์ออก เพราะถึงแม้จะไม่มีการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า แต่หากไฟยังจ่ายอยู่ไฟก็อาจรั่วได้ และควรให้ท่านใส่รองเท้าอยู่กับบ้านชนิดที่ป้องกันชนวนก็จะทำให้ปลอดภัยยิ่งขึ้นทั้งจากไฟฟ้าแล้วการเหยียบสิ่งของอันตรายและนอกจากเรื่องของปัจจัย 4 แล้ว

pan

ยังควรเตรียมของใช้ที่จำเป็น ได้แก่
5. ถุงขยะ ต้องเตรียมถุงดำพร้อมเชือกหรือยางมัดไว้เพื่อห้องน้ำไม่ระบายต้องให้ท่านถ่ายใส่ถุงแล้วมัดให้ดี รวมถึงบรรดาขยะต่าง ๆ ด้วย อย่าให้สัมผัสกับน้ำที่ขังจะทำให้ของเสียกระจายออกมาได้
6. แสวงสว่าง ต้องเตรียมไฟฉายพร้อมถ่านไว้ให้พร้อมเผื่อกรณีที่แสงสว่างพื้นฐานไม่อาจใช้ได้
7. กระดิ่งหรือนกหวีด ต้องเตรียมอุปกรณ์ที่ส่งเสียงดังไว้ใกล้มือท่าน ในกรณีที่ท่านต้องการความช่วยเหลือจะได้สามารถเรียกหาผู้ช่วยได้

8. การสื่อสาร ต้องหาวิทยุให้ผู้สูงอายุเปิดฟังข่าวสาร หรือความบันเทิง เพราะการอยู่กับเหตุการณ์ไม่ปกติ อาจจะทำให้เกิดความเครียด รวมถึงโทรศัพท์และแบตเตอรี่สำรอง ไว้สำหรับติดต่อฉุกเฉินและต้องจดเบอร์ฉุกเฉินไว้ให้ท่านด้วย และควรฝากเพื่อนบ้านไว้ด้วย จะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาซึ่งกันและกัน เพื่อความอุ่นใจยิ่งขึ้น

สำหรับในกรณีที่บ้านไม่สามารถอยู่ได้ จำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุออกจากบ้าน แล้วผู้สูงอายุไม่ยอมย้ายออกนั้น สำคัญที่สุดคือการห้ามใช้คำพูดทำนองที่ว่าถ้าท่านอยู่ท่านจะเป็นภาระให้ลูกหลานที่ต้องมาคอยดูแล เพราะการพูดแบบนั้นจะทำให้ผู้สูงอายเกิดความน้อยใจและกลับจะประชดด้วยการดื้อไม่ยอมออกจากบ้านยิ่งขึ้นไปอีก วิธีการควรให้เหตุผลว่าท่านจะต้องย้ายเพื่อออกไปเป็นกำลังใจให้กับลูกหลาน และควรจะถามท่านถึงข้อคิดเห็น หรือวิธีแก้ไขต่าง ๆ ให้ท่านรู้สึกว่าท่านยังมีคุณค่า มีความสำคัญอยู่ ก็จะยิ่งเป็นการรับประกันผลสำเร็จในการโน้มน้าวใจให้ท่านออกจากบ้านได้ง่ายขึ้น

และในทุกกรณีพึงระลึกไว้เสมอว่าไม่มีอะไรสำคัญกับผู้สูงอายุเท่ากับความอบอุ่นจากลูกหลาน จึงจำเป็นต้องหาเวลาไปพูดคุยสนทนากับท่านอย่าให้เหงา มิเช่นนั้นความวิตกกังวลจากน้ำท่วมจะจู่โจมทำให้ท่านเครียดจนป่วยได้

หากมีการเตรียมความพร้อมที่ดี และมีสติในการตั้งรับกับสถานการณ์ต่างๆอย่างดีแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าจะสามารถดูแลผู้สูงวัยและบุคคลที่รักในครอบครัวได้อย่างดีเยี่ยม เปี่ยมคุณภาพและเปี่ยมสุขไปด้วยกัน ผศ.ดร.วีรณัฐ โรจนประภา กล่าว

e-book-1-503x62