หุ้นบูมหนุนบริษัทเพิ่มทุนตลาดบอนด์โต

15 ต.ค. 2560 | 11:41 น.
ตลาดกระทิง หนุนบริษัทจดทะเบียนระดมทุน สมาคมตราสารหนี้ฯ ชี้ปีหน้าความต้องการลงทุนตราสารหนี้ยังมีต่อเนื่อง
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนแห่งหนึ่ง เปิดเผยว่า ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้น หนุนให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นสูงกว่า 1,700 จุด ส่งผลให้ตลาดหุ้นซื้อขายที่สัดส่วนราคากำไรต่อหุ้น (พี/อี) 16.7 เท่า รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้บริษัทหลายแห่ง พิจารณาการจัดโครงสร้างทางการเงินให้เหมาะสมใหม่ จากที่ผ่านมาอาจจะใช้แหล่งเงินทุนจากตลาดตราสารหนี้ เช่น หุ้นกู้และสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์มานาน โดยการเพิ่มในส่วนหนี้ แนวโน้มคงต้องเพิ่มในส่วนของทุน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินในระยะยาว

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตราสารหนี้ไทย (ThaiMBA) กล่าวว่า ดีใจด้วยถ้าตลาดหุ้นดีขึ้นจริง เป็นโอกาสในการเพิ่มทุนจดทะเบียน แต่ดูไม่ออกและไม่มั่นใจตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นมากในปีหน้าอย่างที่คาดการณ์หรือไม่ส่วนหนึ่งที่ดัชนีหุ้นขึ้นมาสูงกว่า 1,700 จุด จากการหายตัวไปของบางคน

นอกจากนั้นการกู้เงินจากสถาบันการเงินและการออกตราสารหนี้ มีต้นทุนตํ่ากว่าการออกหุ้นเพิ่มทุน แต่ถ้าตลาดหุ้นดีและบริษัทจดทะเบียนออกตราสารทุน ถือว่าจะเอื้อต่อตลาดตราสารหนี้และระบบสินเชื่อด้วย เพราะการขอเงินจากธนาคารพาณิชย์ ต้องมีส่วนของทุนมาพิจารณาตามสัดส่วนด้วย

“ถ้าโอกาสมี ผมเป็นบจ. ก็ต้องเพิ่มทุน แต่ผมดูไม่ออกหุ้นขึ้นอีกนานแค่ไหน แม้ว่าทุกคนเชื่อว่าตลาดจะดีขึ้นก็ตาม” นายธาดากล่าว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถาปัตยกรรมทางการเงินของโลกได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว จากเดิมธนาคารเป็นแกนหลัก ภายหลังจากเกิดวิกฤตการณ์แฮม เบอร์เกอร์ ได้สร้างบทเรียนในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ และสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนที่สูงขึ้น เพิ่มความเข้มงวดในการพิจารณา และเอกชนหันไปใช้ตลาดตราสารหนี้มากขึ้น เห็นได้จากปี 2558 มีการออกตราสารหนี้สูงถึง 8.1 แสนล้านบาท ส่วนปีนี้เป้าหมายตั้งไว้ที่ 6 แสนล้านบาท ตอนนี้ก็ระดมเงินถึง 6.4 แสนล้านบาทแล้ว

ส่วนแนวโน้มในปี 2561 นายธาดา กล่าวว่า สมาคมตราสารหนี้ไทย ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายการออกตราสารหนี้ แต่ปกติจะคาดการณ์แบบอนุรักษนิยม ขณะที่แนวโน้มความต้องการลงทุนตลาดตราสารหนี้ไทยยังมีต่อเนื่อง โดยมาจากบริษัทประกันชีวิต กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สหกรณ์ วัด มูลนิธิต่าง ๆ ขณะเดียวกันบุคคลทั่วไปก็มองหาการลงทุนในตราสารหนี้ เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองเงินฝากลดลง ซึ่งในอีก 2-3 ปีจะรับประกันเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท โดยได้ปรับลดลงต่อเนื่องจาก 50 ล้านบาท

“โดยปกติ ความต้องการซื้อตราสารหนี้มากกว่าจำนวนที่ออก ปีละ 6 แสนล้านบาท ทำให้เกิดการแย่งกันซื้อ แต่ปีหน้ามีตัวแปรหลายตัว เช่น ยุโรปดีขึ้น ดอกเบี้ยจะขึ้นอย่างช้าๆ จะเกิดการแห่ขายตัวที่มีอายุยาวมากกว่าอายุสั้น” นายธาดากล่าว

ปัจจุบันการเสนอขาย
หุ้นกู้เอกชนส่วนใหญ่ประมาณ 95% ขายให้กับนักลงทุนสถาบัน หรือนักลงทุนรายใหญ่ การเปิดขายให้นักลงทุนทั่วไปน้อยมาก จึงแนะนำให้ลงทุนผ่านกองทุนรวมได้

ส่วนการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) จากกรณีที่บริษัทบางแห่งผิดนัดชำระ (Default) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ปรับเกณฑ์ เสนอขายตั๋ว B/E ได้เฉพาะกลุ่ม Private Placement 10 ราย (PP10) และห้ามโอนเปลี่ยนมือ คาดจะมีผลบังคับใช้กลางปี 2561

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3 นายธาดา กล่าวว่า สถานการณ์ตลาดตราสารหนี้ไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสมดุลระหว่างตลาดตราสารหนี้ ตลาดตราสารทุน และสินเชื่อธนาคาร โดยเดือนสิงหาคม 2560 ตลาดตราสารหนี้มีมูลค่า 11.21 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.73% โดยมีการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดรองเฉลี่ยวันละ 9.39 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% เทียบกับปีที่แล้ว โดยกว่า 93% เป็นการซื้อขายตราสารหนี้ภาครัฐ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย

ส่วนมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชน 8 เดือนแรกปี 2560 อยู่ที่ 3.20 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้ว 3.9% และในเดือนกันยายนที่ผ่านมามีเงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทย
กว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยรวมมีเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน 1.85 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ลงทุนพันธบัตรที่มีอายุมากกว่า 1 ปี

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า บลจ.ไทยพาณิชย์ฯได้สำรวจบริษัท
จดทะเบียนที่มีการออกหุ้นกู้ ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BB+ มีมากขึ้น เพราะการออกบี/อี ยากขึ้น โดยจ่ายดอกเบี้ย 4-5%

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว