“FTA จีน” พ่นพิษ! ภาษี 0% สินค้าทะลัก-รถอีวีป่วน

15 ต.ค. 2560 | 07:49 น.
Screen Shot 2560-10-15 at 14.34.59

FTA อาเซียน-จีน ป่วน! กระทบแผนปั้น “ไทย” ขึ้นเป็นฮับผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภูมิภาค เหตุซุกภาษี 0% “รถอีวี” มีผล 1 ม.ค. 61 ... กรมศุลกากรปวดขมับภาษี 2 มาตรฐาน กระทบหนักทั้งนำเข้า-ผลิตในประเทศ “นิสสัน” ยื่นรัฐทบทวนด่วน!

กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันที จากข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) นี้ หลังจากกระทรวงการคลังออกประกาศมาตั้งแต่ปี 2547 สินค้าภายใต้ข้อผูกพัน ACFTA จำนวน 703 รายการ มีอัตราอากรลดลงจากปีนี้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่เคยเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 20%, 15%, 12% และ 10% เหลือเสีย 5% และกลุ่มที่ 2 อัตราภาษีนำเข้าทั่วไป ต่ำกว่า 5% จะมีตั้งแต่ 5%, 3% และ 0% จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 โดย 1 ในสินค้าที่กระทบอย่างหนัก คือ รถยนต์นั่งไฟฟ้า ที่จะจัดเก็บ 0%

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า สินค้าเกษตร, รถยนต์นั่งไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV), อุปกรณ์ส่วนควบคุมและอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่, เครื่องอัดประจุไฟฟ้า จะมีอัตราภาษีเหลือ 0% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2561 ไม่นับรถเมล์ไฟฟ้าที่ยังคงเสียภาษีนำเข้าในอัตรา 30% ซึ่งหากมีการนำเข้าจากจีนจำนวนมากก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลกำลังส่งเสริมและดึงให้ผู้ประกอบการผลิตรถยนต์ต่างชาติเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค


รถยนต์ไฟฟ้า

“รัฐบาลเองก็กังวลเรื่องนี้ว่า หากไม่เสียภาษีแล้ว จะมีการนำเข้าจากจีนมาในไทยมากน้อยแค่ไหน เพราะการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่มีกรอบเอฟทีเอ จะต้องเสียภาษี 30% และหากนำเข้ามามากอาจกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศด้วย เพราะรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมีราคาถูกมาก เริ่มต้นเพียงคันละ 2 แสนบาทเท่านั้น รวมถึงต้องตรวจสอบมาตรฐานด้วย” นายกุลิศ กล่าว

บีโอไอประกาศส่งเสริมผลิต “รถยนต์ไฟฟ้า” ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ภาษี ทั้งในส่วนของโรงงานแบตเตอรี่และโรงงานผลิตรถยนต์ ขณะที่ กรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีเพียง 2% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ที่ผลิตโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ


- ดึงออก-ตั้งมาตรฐานสูง -
ขณะนี้กรมศุลกากรทำงานร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เพื่อหาผลสรุปจากผลกระทบจากรถยนต์ไฟฟ้า และหาแนวทางป้องกันว่า จะทำได้มากน้อยเพียงใด ก่อนที่ ACFTA จะมีผลบังคับใช้


P1-3305-A

“ข้อตกลงนี้ ทำไว้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราต้องปฏิบัติตามนั้น และยังเป็นข้อตกลงร่วมกับอาเซียนด้วย จึงต้องมาดูว่า เราจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้มากนัก เพราะเป็นเรื่องกลยุทธ์ประเทศ หากพูดมากไป เราอาจจะเสียเปรียบได้ แต่จะทำให้ดีที่สุด” นายกุลิศ กล่าว

นายกุลิศ กล่าวว่า แนวทางที่อาจจะทำได้ คือ เจรจาขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขใหม่ได้หรือไม่ จะดึงรถยนต์ไฟฟ้าออกจากหมวดอื่น ๆ หรือจำเป็นต้องหาแนวทางกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช้ภาษีขึ้นมา เช่น กำหนดมาตรฐานรถยนต์นำเข้าให้เข้มงวดขึ้น

ส่วนผลกระทบด้านรายได้จากกรอบข้อตกลงเอฟทีเอ ในปีงบประมาณ 2560 รายได้จากภาษีของกรมศุลกากรหายไป 2,000 ล้านบาทจากกรอบอาเซียน และในปี 2561 คาดว่า จะสูญเสียรายได้เพิ่มขึ้นอีก 800 ล้านบาทจากกรอบอาเซียน-จีน

og-share

- “นิสสัน” จี้รัฐทบทวน -
นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีแผนนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า รุ่น “LEAF” มาจำหน่ายปีหน้า เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กระทบกับผู้ผลิตรถยนต์ที่กำลังจะตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการรถยนต์ไฟฟ้าที่รัฐบาลต้องการผลักดันอย่างแน่นอน ในส่วนของนิสสันอาจจะมีการพูดคุยและนำเสนอขอนำเข้ารถยนต์อีวีมาจากญี่ปุ่นก่อน จากเดิมที่ต้องมีเงื่อนไขการลงทุนและมีฐานการผลิตในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังคงต้องรอดูและไม่รู้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร

“เดิมทีการตัดสินใจลงทุนในโครงการนี้ยากอยู่แล้ว เพราะดีมานด์ของรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันยังน้อยอยู่ และการลงทุนค่อนข้างสูง เมื่อมาเจอกรณีเอฟทีเออาเซียน-จีน ยิ่งทำให้ยากขึ้นไปอีก”

ความคืบหน้าในขณะนี้ ผู้ผลิตรถยนต์ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มยานยนต์ และทำหนังสือยื่นให้กับกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อทบทวนและพิจารณาเงื่อนไขรายละเอียดด้านต่าง ๆ

“ผู้ผลิตรถยนต์ก็มีการพูดคุยกันบ้างเบื้องต้น ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาในลักษณะไหน แต่ต้องยอมรับว่า เป็นปัญหาที่ค่อนข้างจะแรงทีเดียว”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3
- ลุ้นต่อรองให้เก็บ 20% -
แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ เปิดเผยว่า ยังไม่มีทุนกลุ่มไหนยื่นคำขอรับการส่งเสริมผลิตรถยนต์ไฟฟ้ากับบีโอไอ เพราะยังมีเวลาถึงปลายปี 2561 ปัจจุบันมีเพียงนำเข้ามา เพื่อทดลองตลาด ถ้าขายทั่วไปยังต้องใช้เวลา นอกจากนี้ ภาษีอากรขาเข้ารถไฟฟ้าอาเซียน-จีน 0% เป็นประเด็นที่น่าห่วง แต่รัฐบาลกำลังแก้ไขอยู่ จะต้องเจรจาใหม่ จาก 0% เป็น 20% เท่ากับความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ได้หรือไม่

แหล่งข่าวจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยว่า ภายใต้ความตกลงเขตการค้าอาเซียน-จีน ไทยเคยเปิดตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้กับรถนำเข้าจากจีน โดยยกเลิกภาษีนำเข้าเป็น 0% ขณะที่จีนก็ได้เปิดตลาดรถยนต์ BEV ให้ไทยในอัตราภาษี 0% เช่นกัน ตั้งแต่ปี 2553 โดยจากสถิติของกรมศุลกากรไทยมีการนำเข้ารถ BEV จากจีนภายใต้สิทธิประโยชน์ภาษี 0% ยังไม่มาก ข้อมูลช่วงปี 2555-2559 มีจำนวน 7 คัน คิดเป็นมูลค่า 8.7 ล้านบาท

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15-18 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9