การแบ่งแยกทางดิจิตอล กับปัญหาทางความคิดและการศึกษาไทย

16 ต.ค. 2560 | 23:15 น.
MP23-3305-B ปกติผมจะเขียนบทความที่เกี่ยวข้องกับการเงินการลงทุนเป็นหลัก แต่มองในอีกมุมเรื่องการศึกษาก็นับเป็นการลงทุนระยะยาวที่แทบทุกครอบครัวยินดีลงทุนให้กับบุตรหลานด้วยเช่นกัน จึงอยากนำเสนอบทความนี้เพื่อเป็นการพัฒนาการศึกษาไทยต่อไป เมื่อครั้งที่ผมกำลังศึกษาปริญญาโทอยู่นั้น นับเป็นช่วงเวลาของดิจิตอลที่กำลังเฟื่องฟูในยุคแรกๆ ประมาณปลายทศวรรษ 1990s แม้ว่าผมเองจะเลือกเรียนด้านเศรษฐศาสตร์แต่ด้วยความอยากรู้ก็มักจะถามเพื่อนที่เรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศว่าเราเรียนอะไรกัน และมักจะขอหนังสือเขามาอ่านอยู่เป็นประจำ

การเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและข้อมูลต่างๆ ในยุคแรกนั้น ยังใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เป็นหลักโทรศัพท์มือถือยังเป็นเพียงแค่โทรศัพท์ไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ แม้แต่ tablet หรือ ipad ก็ยังไม่มีการประดิษฐ์ขึ้นเสียด้วยซํ้า ในต่างประเทศก็มีนักคิดหลายคนที่เป็นห่วงเรื่องความเหลื่อมลํ้าและการแบ่งแยกที่เกิดจากการเข้าถึงข้อมูล (digital divide) มีหนังสือมากมายที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าคนที่อยู่ในประเทศที่เจริญแล้วหรืออยู่ในเมืองใหญ่มีรายได้สูงสามารถซื้อคอมพิวเตอร์ได้ก็จะได้เปรียบผู้ที่ไม่สามารถซื้อคอมพิวเตอร์เพื่อที่จะเข้าไปหาข้อมูลต่างๆ ได้ แต่ความกังวลดังกล่าวก็ดูจะลดลงหลังจากการแพร่หลายอย่างรวดเร็วของ smart phone และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3G/4G ที่ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและข้อมูลได้ไม่แพ้กัน ขนาดแม่บ้านและ รปภ.หลายแห่งยังใช้โทรศัพท์ smart phone เล่นไลน์และเฟซบุ๊กเลย

ความกังวลเรื่องการแบ่งแยกทางดิจิตอลจึงไม่ใช่การแบ่งแยกตามฐานะทางสังคมหรือเศรษฐกิจอีกต่อไป หากเป็นการแบ่งแยกทางการปรับตัวและแนวความคิดต่างหาก แน่นอนแม้เทคโนโลยีจะก้าวหน้าและพัฒนาให้ง่ายต่อผู้ใช้เพียงใด หากเราปิดใจไม่ยอมรับมันการเข้าถึงเทคโนโลยีก็จะไม่เกิดขึ้น จากการศึกษาข้อมูลในปัจจุบันยังพบว่ามีบางกลุ่มที่ไม่เปิดรับเทคโนโลยีและก็ไม่เข้าถึงอินเตอร์เน็ตเลย ตัวอย่างเช่น แม้ธนาคารหรือบริษัทโทรศัพท์มือถือจะโปรโมตแอพพลิเคชันของตนอย่างไร ทั้งลด แลก แจก แถม ก็ยังมีกลุ่มที่ไม่ยอมสมัคร ไม่ยอมใช้ ยังชอบทำธุรกรรมด้วยกระดาษแบบเดิมๆ มากกว่า

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01 นอกจากการปิดใจไม่เปิดรับเทคโนโลยีแล้วซึ่งน่าจะเป็นประชาชนส่วนน้อย ประเทศไทยกลับมีปัญหาเชิงโครงสร้างอีกหนึ่งประเด็นคือเรื่องแนวคิดและระบบการศึกษา ที่เน้นให้ลูกศิษย์ทำตามที่คุณครูสอน ไม่ชอบให้ลูกศิษย์ตั้งคำถามกลับไปกลับมา จึงทำให้เด็กไทยโดยเฉลี่ยจึงขาดความช่างสงสัย ความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการเรียนรู้ในโลกที่มีข้อมูลไร้ขีดจำกัด ใครก็สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย เมื่อเดือนที่แล้วผมได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่งของประเทศ ท่านก็ให้ข้อสังเกตใกล้เคียงกันว่า เทียบเด็กไทยกับเด็กในอาเซียน บรรยากาศในห้องเรียนของไทยนั้นเงียบกว่ามาก การสื่อสารเป็นทางเดียวคือครูให้วิชาความรู้กับลูกศิษย์ มีการยกมือถามคำถามน้อยมากๆ ในขณะhttp://www.thansettakij.com/wp-admin/post-new.phpที่ห้องเรียนที่ท่านได้มีโอกาสไปดูงาน ไม่ว่าจะเป็นจีน เวียดนาม มาเลเซียหรือแม้แต่อินโดนีเซีย เด็กๆ จะยกมือถามกันตลอด ท่านก็เป็นห่วงการศึกษาไทยมาก เพราะกว่าจะมาถึงระดับมหาวิทยาลัยนี่เริ่มแก้ไขยากแล้ว เพราะนิสัยความอยากรู้อยากเห็นต้องบ่มเพาะตั้งแต่ยังเล็กๆ

สะท้อนกลับมามองตนเองที่ได้มีโอกาสเรียนปริญญาตรี 2 ใบทั้งในประเทศไทยและในสหรัฐ อเมริกา เมื่อถูกถามว่าความแตกต่างที่สำคัญของการศึกษา 2 ระบบคืออะไร ผมก็มักจะตอบเสมอว่า ระบบไทยสอนให้ตอบคำถามและแก้ปัญหา แต่ระบบฝรั่งสอนให้รู้จักสงสัยและตั้งคำถาม ซึ่งการไม่ช่างสงสัยไม่ถามก็เป็นมูลเหตุที่ทำให้การหาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตไม่ได้ประสิทธิภาพเต็มที่ ทั้งๆ ที่จริงแล้วนั้นอินเตอร์เน็ตมีข้อมูลความรู้มหาศาล ซึ่งปัจจุบันนี้มีคอร์สให้เรียนออนไลน์ได้มากมาย แต่หากขาดการใฝ่รู้ เด็กและสังคมเราก็จะก้าวหน้าไปได้ช้ากว่าประเทศอื่น คุณครู คุณพ่อ คุณ แม่ ผู้ปกครองก็อย่าได้รำคาญตัดบทเวลาเด็กๆ ช่างซักช่างถาม เพราะความใฝ่รู้ใฝ่ถามคือพื้นฐานของการเรียนรู้อันไม่มีที่สิ้นสุด เราต้องเปลี่ยนนิสัยแนวความคิดนี้ในรุ่นของเราก่อนที่ประเทศไทยจะโดนเพื่อนบ้านแซงหน้ากันไปหมดนะครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15 - 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว