ผลวิจัยกับดักอุตฯ 4.0 “ขาดแรงงานทักษะ-ผู้ผลิตใช้เทคโนโลยีต่ำ”

18 ต.ค. 2560 | 07:47 น.
มีผลงานวิจัยที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ภายใต้โครงการ Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิดเพื่ออนาคต ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ทำงานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับ “ปัญหา ความท้าทายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0” ศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรค รวมถึงแนวทางแก้ไขนำเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่จะช่วยยกระดับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้มีศักยภาพ

พบ 75% ใช้เทคโนโลยีต่ำ!
โดยได้มอบหมายให้ “Chisholm Institute Australia” ที่มีความเชี่ยวชาญการพัฒนาขีดความสามารถด้านการจัดการศึกษา และอบรมด้านเทคนิคและวิชาชีพ ได้ทำการวิจัยในรูปแบบสัมภาษณ์เชิงลึกและวิเคราะห์ข้อมูลจากทั้งในและต่างประเทศ จากผลวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 75% ของผู้ประกอบการไทย ยังคงใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าระดับ 2.5 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก เพราะถูกจำกัดด้วยปัจจัยทางค่าใช้จ่าย ทำให้ไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนการผลิต แต่ก็ยังประสบปัญหาขาดแคลนช่างเทคนิครุ่นใหม่จำนวนมาก ที่มีทักษะในการปฏิบัติงาน ทั้งด้านเมแครอนิกส์, หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีวัสดุ เป็นต้น อีกทั้งยังขาดวินัย (Soft Skill) ที่เอื้อต่อการทำงานอีกด้วย รวมถึงภาคอุตสาหกรรมไทยยังใช้หุ่นยนต์ในกระบวนการผลิตน้อยกว่าผู้ผลิตอื่นในภูมิภาคเอเชีย


สะท้อนปัญหาการศึกษา
นายประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ชี้ให้เห็นว่า งานวิจัยชิ้นนี้ช่วยสะท้อนถึงปัญหาภาคอุตสาหกรรมและอาชีวศึกษาของไทย และยังตอบโจทย์การทำงานของ สอศ. ในการพัฒนาหลักสูตรสร้างบุคลากรสายวิชาชีพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 โดยได้จัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อยกระดับอาชีวศึกษาของไทยสู่การเป็นอาชีวะระดับสากล ภายใต้หลักการสำคัญ อาทิ การผลิตและพัฒนาคนที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการจัดการอาชีวศึกษา ส่งเสริมสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิตอล รวมถึงผลิตและพัฒนาครูอาชีวศึกษาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง


TP11-3305-B

ส.อ.ท. เสนอ 3 ทางรอด
ขณะที่ นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลงานวิจัยที่ออกมา มีความสอดคล้องกับข้อมูลของ ส.อ.ท. จึงได้มีข้อเสนอร่วมกันว่า 5 ปีต่อจากนี้ ภาครัฐควรมุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กควบคู่กันใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.การให้ข้อเสนอจูงใจผู้ประกอบการลงทุนเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น 2.การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 4.0 อย่างจริงจัง 3.สนับสนุนการพัฒนาฝึกอบรมด้านสะเต็มและเทคนิค เพื่อเร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้ไล่ทันเทคโนโลยี ซึ่งจะเห็นว่า ปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งมีการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ของตนเอง เพื่อผลิตบุคลากรให้มีทักษะตรงความต้องการมากที่สุด

ทั้งนี้ ปัจจุบันความเชื่อมั่นและความสนใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ การนำเสนอพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะยังคงเป็นอุปสรรค อาจส่งผลให้เกิดการชะลอด้านการลงทุนได้

ดังนั้น ภาครัฐจึงควรประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเร่งปฏิรูประบบการศึกษา โดยเฉพาะการผลิตแรงงานวิชาชีพรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายที่วางไว้ ให้เท่าทันและเพียงพอความต้องการ โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับนี้จะถูกส่งมอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่ขับเคลื่อนทางด้านการศึกษา เพื่อเป็นการนำเสนอแนวทางในการกำหนดหลักสูตร ที่เหมาะแก่การพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงานในอนาคต พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างยั่งยืน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01

แนะอุปสรรคที่ต้องเร่งแก้
นอกจากนี้ ผลวิจัยได้มีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาที่เป็นอุปสรรค 6 ข้อ ได้แก่ 1.จะต้องจัดหลักสูตรผลิตช่างเทคนิค เช่น การส่งเสริมหลักสูตรอบรมหรือพัฒนาแรงงานวิชาชีพให้มีทักษะพื้นฐาน 2.การจัดหาทรัพยากรสนับสนุน เช่น เตรียมบุคลากรฝึกอบรม เตรียมความพร้อมด้านการสอนแบบบูรณาการ 3.การคัดเลือกสถานศึกษา เพื่อทดลองใช้หลักสูตร 4.การพัฒนาศักยภาพผู้สอนและผู้ฝึกอบรม 5.การสร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาทักษะด้านเทคนิค และ 6.การสร้างความตระหนักรู้ในอาชีพช่างเทคนิคสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15-18 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว