70 ปี แห่งความรุ่งโรจน์ ใต้ร่มพระบารมี “รัชกาลที่ 9”

13 ต.ค. 2560 | 06:22 น.
1156

ในโอกาสที่คนไทยจะได้ร่วมกันถวายความอาลัยในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ในวันที่ 26 ต.ค. นี้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการบดีวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ย้อนรำลึกถึงพระราชกรณียกิจ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ที่ทรงทำงานอย่างหนักเพื่อพสกนิกรชาวไทย ตลอด 70 ปี ที่ครองราชย์ จนได้รับเสียงชื่นชมจากทั่วโลก


MP14-3305-1A

...70 ปี การเปลี่ยนแปลง...
นายเอนก กล่าวว่า 70 ปี ของรัชกาลที่ 9 เป็น 70 ปี ที่มองย้อนหลังแล้วมีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่มากของประเทศไทย จากประเทศที่ตอนพระองค์ท่านขึ้นครองราชย์ เป็นประเทศที่ยากจน และเพิ่งผ่านสงครามโลก ครั้งที่ 2 มาแบบผู้แพ้ด้วย เพราะเราไปเข้าข้างญี่ปุ่น และเรากำลังถูกประเทศตะวันตกกลับเข้ามาจัดการ เราจึงต้องดิ้นรนที่จะเป็นสมาชิกสหประชาชาติโดยเร็ว ซึ่งเป็นช่วงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต หลังจากที่ทรงงานให้ชาติบ้านเมือง 70 ปี ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับบนของโลก ถ้าคิดเป็นรายได้ที่เป็นจริง ก็ระดับที่กว่า 20 ของโลก ไม่ใช่ประเทศยากจนอีกแล้ว คนไทยส่วนใหญ่มีฐานะระดับปานกลาง อย่างน้อยก็ชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ใช่คนยากจน ซึ่งคนยากจนก็ยังมีอยู่ แต่ไม่มากนัก

ประเทศไทยเปลี่ยนจากปีที่ท่านขึ้นครองราชย์ จากประเทศชนบทเป็นประเทศเมือง อาจเป็นเมืองที่ใหญ่โตทันสมัย เขียว สดใส ไม่เท่ากับหลาย ๆ ประเทศในโลก แต่ก็น่าคิด “กรุงเทพฯ” เมืองสำคัญของเรา กลายเป็นเมืองสำคัญของโลกในด้านการท่องเที่ยว มีคนต่างชาติมาที่กรุงเทพฯ ปีละ 20 ล้านคน นับเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก ความสำคัญในแง่ประชากรต่างประเทศที่เดินทางมากรุงเทพฯ มากกว่าที่ไปลอนดอน ประเทศอังกฤษ มากกว่าไปนิวยอร์ก มากกว่าไปปารีส หรือมากกว่าไปโตเกียว, ปักกิ่ง และเซี่ยงไฮ้

นอกจากนั้น ประเทศไทยมีเมืองที่ติดอันดับโลกอีก 2-3 เมือง คือ 1.ภูเก็ต 2.เมืองพัทยา โดย 2 เมืองนี้อยู่ใน 25 เมืองแรกที่สำคัญที่สุดของเอเชีย-แปซิฟิกในแง่การท่องเที่ยว นอกจากนั้น ยังมีเมืองเชียงใหม่ จากเดิมที่เราเป็นเมืองชนบท ตอนนี้เราเป็นประเทศเปิด รวมกรุงเทพฯ เรามีเมืองที่อยู่ในระดับโลก 4 เมืองด้วยกัน นั่นเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่


MP14-3305-A



…70 ปี แห่งความรุ่งโรจน์...
ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะลดน้อยลงไป แต่เป็นเพราะประชากรเพิ่มขึ้น จึงยากที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมให้ได้ดีเท่าเดิม แต่ก็ยังจัดว่าดี เรามีป่า ยกตัวอย่างแค่ 2 ป่า คือ ป่าชายแดนด้านตะวันตก ตั้งแต่แม่ฮ่องสอน ไล่ไปถึงเพชรบุรี เป็นป่าระดับเอกของโลก มีความสำคัญไม่แพ้ป่าอเมซอนในบราซิล มีเสือ มีช้าง มีนก สัตว์ปีกที่อยู่บนยอดสูงสุดของพีระมิด เสือดาวเป็นสัตว์ที่อยู่บนยอดพีระมิดของสัตว์ที่กินเนื้อ ช้างอยู่บนยอดพีระมิดของสัตว์ที่กินพืชกินหญ้า เป็นการชี้ให้เห็นว่า ถ้าไม่มีนก ไม่มีสัตว์ที่ขนาดเล็กลงมาอีกมากมาย ไม่มีพืชอีกมากมาย ก็ไม่มีสัตว์ 3 ชนิดที่พูดมาข้างต้นในป่าชายแดนด้านตะวันตก ซึ่งยังมีความอุดมสมบูรณ์มาก

อีกอันหนึ่งเรายังมีป่าชายเลน เป็นป่าที่อยู่ริมหาด ริมทะเล เป็นที่เพาะเลี้ยงพืชพันธุ์สัตว์และสัตว์ทะเล ป่าชายเลนที่ระนองและจันทบุรีถือเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์ที่สุดในโลก

นอกจากนั้น ในด้านการศึกษาไทย เมื่อตอนที่ท่านเสด็จขึ้นครองราชย์ มหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น มีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ น่าจะเพิ่งก่อตั้งคณะแพทยศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร ตามขึ้นมาอีกไม่กี่ปี ที่มีมานานหน่อยก็จุฬาฯ และธรรมศาสตร์ แต่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีหลายร้อยแห่ง ทุกจังหวัดมีมหาวิทยาลัยหมด ทุกจังหวัดมีการสอนปริญญาโทเป็นอย่างน้อย หลายจังหวัดสอนถึงปริญญาเอกแล้ว ฉะนั้นอัตราการรู้หนังสือ อัตราการจบปริญญาตรี, ปริญญาโท และปริญญาเอก เทียบกับสมัยก่อนไม่ได้เลย

ดูจากด้านต่าง ๆ ที่ผมพูดมา สรุปได้ว่า 70 ปี เป็น 70 ปีแห่งความรุ่งโรจน์ ซึ่งอันนี้เป็นอะไรที่แปลก เราไปดูนายกรัฐมนตรีเป็นคน ๆ ดูรัฐมนตรีเป็นท่าน ๆ เป็นรายกระทรวง ดูรัฐบาลเป็นช่วง ๆ ดูจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า ประเทศไทยยังล้าหลัง ประเทศไทยไม่ก้าวหน้า ประเทศไทยไม่มีผลงาน ประเทศไทยแย่แล้ว แต่พอเรามาดู 70 ปีของการครองราชย์ ภาพที่เราเห็นเป็นช่วง ๆ มันต่อกันหมด มันใช้เวลานานพอสมควร

 

[caption id="attachment_219185" align="aligncenter" width="335"] เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการบดีวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการบดีวิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[/caption]

…ครองราชย์ 70 ปี ไม่มีสงคราม...
70 ปี เราจะเห็นประเทศไทย เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จประเทศหนึ่งในเอเชีย แม้กระทั่งในโลกก็พูดได้ ผมอยากเติมให้ว่า เราไม่เคยมีสงครามเลยตลอด 70 ปี เป็นต่อให้กับความยาวของสันติภาพในประเทศไทย ซึ่ง 200 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่เคยมีสงคราม นี่ก็เป็นสิ่งที่ดีสำหรับคนไทย แล้วต้องชื่นชมประเทศของเรา และคิดถึงพระเจ้าอยู่หัว ที่ขึ้นครองราชย์ 70 ปี ไม่มีสงคราม แปลว่า เราไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องตายอย่างมากมายจากสงคราม

แม้เศรษฐกิจเราจะขึ้น ๆ ลง ๆ ดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ 70 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีสงคราม ทำให้เราไปไกลกว่าประเทศเพื่อนบ้านเยอะ ประเทศเพื่อนบ้านเราบางประเทศเก่งกว่าเราในด้านเศรษฐกิจ แต่เขารบกัน 30 ปี เวลานี้เขายังตามหลังเรา เพราะฉะนั้น 70 ปี จึงเป็น 70 ปีที่สำเร็จ ทั้งฐานะของประชาชนดีขึ้น ฐานะของประเทศดีขึ้น สุขภาวะของคนดีขึ้น คนมีความสุข โดยเฉพาะความรักที่มีต่อพระมหากษัตริย์ ความสุขที่พระมหากษัตริย์อยู่กับประชาชนแทบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อมารวมกับสันติภาพที่ยาวนาน สังคมที่พัฒนาไป การศึกษาที่พัฒนาไป สาธารณสุขก็พัฒนาไป คนที่ไหนก็ยอมรับทั้งนั้น

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01

ถ้าเราไม่มั่นใจว่า ประเทศเราดี ให้ไปดูว่า ถ้าไม่ดีใครจะมาเที่ยวเมืองไทยเราขนาดนี้ ใครจะชื่นชมเมืองไทยเราขนาดนี้ คนไทยเราก็ดี 70 ปีที่ผ่านมา เราบ่มเพาะนิสัยที่บรรพบุรุษให้มา ทำให้คนไทยเป็นคนเกือบที่ทั้งโลกนิยมชมชอบ เพราะคนไทยเป็นคนดี คนน่ารัก มีความเอื้อเฟื้อ เป็นคนใจบุญ เป็นคนที่สุขที่ใจ เป็นคุณสมบัติที่โลกนี้ไม่ค่อยมี โลกนี้ขาดสิ่งนี้ ถ้าอ่านข่าวที่ยิงกันทีตายเป็นเบือในอเมริกา จะรู้สึกว่า เมืองไทยช่างปลอดภัย

ผมยังคิดว่า พอเราเอาพระบารมีเป็นที่พึ่งแล้ว เอา 70 ปีของพระองค์ มาวิเคราะห์ มาประเมินสังคมเสียใหม่ เราจะพบว่า ที่จริงเรามาได้ไกล เรามีผลงานทีเดียว เรามีความสำเร็จทีเดียว ผมเองไม่เคยประเมินเมืองไทยสูงขนาดนี้ แต่เราเห็นอะไรช่วงสั้น ๆ มันก็จะมีจุดอ่อน มีข้อดี คือ ทำให้เราวิพากษ์ได้ดี แหลมคมที่จะวิพากษ์วิจารณ์ แต่นั่นแหละ จุดแข็งนั้นกลายเป็นจุดอ่อน ทำให้เรามองไม่ค่อยเห็นความเป็นจริง ทั้งที่บ้านเราดีขึ้นเยอะ


1202

ตอนต้นรัชกาลผมว่า สิ่งที่เราเรียกว่า “life expectancy” คือ การคาดการณ์ว่า คนจะอายุยาวที่สุด 40-50 ปี แต่หลายรัชกาลคนอายุยาวถึง 70 ปี เราน่าจะสรุปได้ว่า 70 ปี เป็น 70 ปีที่น่าระลึกถึง น่าชื่นชม น่าจะรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,305 วันที่ 15-18 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว