ลดลงทุนบอนด์สหรัฐฯ รับมือเฟดหั่นงบดุล ชี้ทิศดอกเบี้ยขึ้นยาว

15 ต.ค. 2560 | 04:09 น.
แนะเอฟไอเอฟกระจายพอร์ตลงทุน ทยอยลดนํ้าหนักตลาดพันธบัตร-หุ้นสหรัฐฯ รับมือนโยบายเฟดลด งบดุล-ขึ้นดอกเบี้ย กสิกรไทย ชี้ปีหน้าหุ้นกู้เอกชนครบกำหนดกว่า 5 แสนล้านบาท บรรยากาศเอื้อภาคธุรกิจระดมทุน

ตลาดเงินและตลาดทุน จับตาผลกระทบจากธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดขนาดงบดุลและเพิ่มโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ตลอดจนแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น จะสะท้อนถึงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯมีแนวโน้มขยับเพิ่ม ทำให้มีแรงขายในตลาดพันธบัตรและตราสารหนี้ทั่วโลก

[caption id="attachment_176296" align="aligncenter" width="503"] นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) นริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี กล่าวว่า จากภาพรวมทิศทางดอกเบี้ยโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า โดยเฉพาะBond Yield สหรัฐฯอายุ 10 ปีอยู่ในระดับ 2.33% ต่อปี ซึ่งใกล้กับพันธบัตรไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ 2.4% ดังนั้นหากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.50% แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเฟดจะนำดอกเบี้ยนโยบายของไทย และสะท้อนเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกช่วงปลายปีเพื่อรอดอกเบี้ยเฟดที่จะปรับขึ้น

ทั้งนี้การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดเรื่องการปรับลดขนาดของงบดุลและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจดึงฟันด์โฟล์วออกจากตลาดในปลายปีนี้บ้าง ความเสี่ยงหลักจะอยู่ที่นักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF)โดยเฉพาะกองทุนในกลุ่ม “โกลบัล” ซึ่งได้รับความนิยมมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากไส้ในของกองทุนในกลุ่มนี้สัดส่วนใหญ่กว่า 70% อยู่ที่สินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ

ดังนั้นในเชิงราคาพันธบัตรสหรัฐฯที่จะปรับลดลง มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนจะได้รับผลกระทบประมาณ 6.8 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันการลงทุนในกอง FIF มียอดสูงถึง 1.1 ล้านล้านบาท เป็นสัดส่วน 25% ของกองทุนรวมทั้งหมด ซึ่งกระจุกตัวมากในตลาดสหรัฐฯ อยากแนะนำให้นักลงทุนศึกษารายละเอียดของกองทุนว่าลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหนและควรมีการกระจายพอร์ตการลงทุนอย่างแท้จริง

[caption id="attachment_218481" align="aligncenter" width="384"] เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด[/caption]

นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงทิศทางนโยบายการเงินของเฟดว่า เบื้องต้นคาดการณ์เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยยังไม่จำเป็นต้องรีบปรับขึ้นดอกเบี้ยตามเฟดในทันที แต่ยังมีตัวแปรที่ต้องติดตามทั้งเงินเฟ้อ ฟันด์โฟลว์และเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะต้องให้นํ้าหนัก

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัยบริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปีหน้ามีโอกาสขยับขึ้นช่วงไตรมาส 3-4 โดยรอเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน ทั้งนี้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของไทยนั้นเพื่อให้สอด คล้องกับดอกเบี้ยของเฟด เฟดจะปรับดอกเบี้ยขึ้นประมาณ 2 ครั้ง

โดยไตรมาส4ปีนี้ต้องโฟกัสเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและเฟดจะปรับงบดุล ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยจะเป็นเครื่องมือคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด ซึ่งปีหน้าและปีถัดไปจะเห็นบอนด์ยีลด์สหรัฐฯขยับขึ้นต่อเนื่องชัดเจนขึ้น

สำหรับบอนด์ยีลด์ไทยอาจขยับตามบ้างแต่ตลาดหุ้นกู้ท้ายปีต่อเนื่องไปปีหน้ายังเอื้อให้ภาคธุรกิจระดมทุนได้ เพราะปีหน้าจะมีหุ้นกู้ทยอยครบกำหนดประมาณ 5 แสนล้านบาท และยังมีภาคธุรกิจต้องการระดมทุนเพิ่มเติมเพื่อรองรับการลงทุนระยะข้างหน้า

ส่วนตลาดสินเชื่อยังมีโอกาสขยายตัวได้ทั้งปีที่ 4% ช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจสามารถใช้สินเชื่อแบงก์ทดแทนการกู้ผ่านตั๋วบี/อี และสัญญาณการใช้สินเชื่อระยะยาว รวมถึงเทรดไฟแนนซ์ซึ่งเป็นเซ็กเตอร์เชื่อมโยงภาคส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินเชื่อธุรกิจยังเติบโตต่อเนื่อง และ 2-3 เดือนเริ่มเห็นการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อนำไปลงทุนในเครื่องจักรและการลงทุนมากขึ้นสะท้อนการฟื้นตัวของภาคเอกชนจะกลับมาลงทุน

นายภูดินันท์ เศรษฐนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ธุรกิจบริหารเงินธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า แนวโน้มกระแสเงินทุนไหลเข้าและออกของนักลงทุนต่างชาติในช่วงต้นเดือนก่อนที่ค่าเงินบาทแข็งค่าลงมาอยู่ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จะเห็นว่าสินทรัพย์แรกที่นักลงทุน ลงทุนจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล และกระจายในหุ้นบ้างเล็กน้อย แต่หลังจากนั้นที่ค่าเงินขยับอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นผลมาจากกระแสข่าวดีของสหรัฐฯ ในเรื่องของประกาศจะทยอยปรับลดงบดุล รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ทำให้เห็นเงินทุนไหลกลับออกไปบางส่วนจากแรงขายพันธบัตรและไปลงทุนในสินทรัพย์ดอลลาร์เป็นหลัก

ดังนั้นในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรขยับสูงขึ้นล้อไปกับค่าเงินบาท โดยในช่วงค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี จะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.25% แต่ในช่วงค่าเงินบาทแตะระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อัตราผลตอบแทนจะอยู่ที่ 2.33% สะท้อนว่ากระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอาจจะอยู่ในช่วงพักตัว เพื่อรอดูโอกาสในตลาด

อย่างไรก็ตามในส่วนของนักลงทุนไทยประเมินว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนหรือมองในสินทรัพย์ปลอดภัยเป็นอันดับแรก เนื่องจากตลาดถูกเขย่าความเชื่อมั่นจากบริษัทเอกชน และการรับประกันเงินฝาก (DPA) ที่ลดวงเงินคุ้มครองลงรวมถึงกระแสข่าวเรื่องภาษีเงินฝาก ทำให้ลูกค้าหรือนักลงทุนจะมองหาสินทรัพย์ปลอดภัยซึ่งจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล และการลงทุนจะเป็นการลงทุนโดยตรงมากขึ้น

“กระแสฟันด์โฟลว์ตอนนี้อยู่ในช่วงพักตัวจึงเห็นการไหลออกบ้างเพราะสหรัฐฯเองก็มีข่าวดีมาต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจะเห็นต่างชาติขายบอนด์ทิ้งเพื่อออกไปลงทุนในสินทรัพย์อิงดอลลาร์”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว