ดันแผน 5 ปีสร้างสถานีขนส่ง เสนอของบปี 62 กว่า 500 ล้านนำร่อง 5 จังหวัด

14 ต.ค. 2560 | 09:55 น.
ขบ.เร่งเสนอสร้าง 5 สถานีขนส่งคนโดยสาร คาดเสนอใช้งบปี 62 กว่า 500 ล้านบาท พร้อมเปิดให้ประชาชนสนับสนุนที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์รอบสถานี จับตาโครงการนำร่องบนพื้นที่ 1.5 แสนตรม.บนศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าบีทีเอส

นายเชิดชัย สนั่นศรีสาคร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก(ขบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ขบ.เร่งจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาสถานีขนส่งคนโดยสารระยะ 20 ปีในภาพรวมทั้งประเทศ และภายใต้แผนแม่บทดังกล่าวกำหนดให้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนภายในระยะ 5 ปี นำร่องจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ(จตุจักร) สงขลา ระยอง นครราชสีมา และเชียงใหม่ คาดว่าจะใช้งบกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งจะเสนอใช้งบประมาณปี 2562 มาดำเนินการ

ดังนั้นเมื่อผลการศึกษาที่ขบ.ได้ว่าจ้างสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ศึกษาแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2561 ก็จะเร่งเสนอของบประมาณปี 2562 ไปดำเนินการ โดยจะก่อสร้างสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) บนพื้นที่ประมาณ 1.5 แสนตารางเมตรของศูนย์ซ่อมโครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นโครงการแรกในปี 2561 และในส่วนที่เหลือก็จะเสนอของบประมาณต่อเนื่องกันไป

“เบื้องต้นสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯนั้นกระทรวงคมนาคมมีแผนชัดเจนแล้วว่าจะใช้พื้นที่ของศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสไปดำเนินการ ส่วนหนึ่งจึงจะย้ายออกมาจากสถานที่ปัจจุบันใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยบนพื้นที่สถานีกลางบางซื่อนั้น เพื่อใช้เป็นที่จอดรถทั้งรถสายสั้นและสายยาว โดยจะมีการสร้างเส้นทางเชื่อมเข้า-ออกรองรับเอาไว้ด้วย ซึ่งกรุงเทพมหานครจะรับหน้าที่นี้ไปดำเนินการเจรจากับเจ้าของที่ดิน”

เช่นเดียวกับสถานีต่างจังหวัดหลายแห่งเป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับไปดำเนินการแล้ว ซึ่งจะมีการขอรับงบประมาณแบบบูรณาการและพัฒนาควบคู่กันไปโดยจะเน้นการพัฒนาบนพื้นที่เดิมให้เต็มศักยภาพในทุกมิติก่อน ดังนั้นบางพื้นที่จึงมีเอกชนแสดงความสนใจมอบที่ดินให้ภาครัฐไปดำเนินการเพื่อแลกสิทธิ์การพัฒนาพื้นที่โดยรอบให้สามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตเมืองในชุมชนนั้นๆ ได้ด้วย ซึ่งท้องถิ่นนั้นๆ จะเกิดร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นในแต่ละพื้นที่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่ผลการศึกษาของ สจล.ยังไม่แล้วเสร็จกรมการขนส่งทางบกได้เปิดการประชุมกลุ่มย่อยของสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ก่อนที่จะนำความเห็นต่างๆไปปรับปรุงรายละเอียดเพื่อให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จโดยเร็วให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศในอนาคต

tp12-3304-C โดยในครั้งนี้เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจังหวัดละ 2 ครั้ง ซึ่งได้ดำเนินการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 แล้วใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา นครราชสีมา และระยอง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (จตุจักร) ทั้งภาครัฐ เอกชน ได้แสดงข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงความคาดหวังถึงรูปแบบสถานีขนส่งผู้โดยสารที่ตอบโจทย์ทั้งด้านปัจจัยแวดล้อม การจัดสรรพื้นที่ให้บริการ และอื่นๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางและแนวทางการพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร ทั้งในระยะสั้นเร่งด่วน (5 ปี) และระยะยาว (20 ปี) พร้อมจัดทำร่างแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาสถานีขนส่งผู้โดยสาร เพื่อนำเสนอในการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะจัดขึ้นภายในเดือนมกราคม- กุมภาพันธ์ 2561 โดยแผนแม่บทดังกล่าวจะครอบคลุมทั้งแผนงานเชิงมาตรการ แผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และประมาณการงบประมาณที่ชัดเจนเพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป

ด้านดร.จารุวิสข์ ปราบณศักดิ์ ผู้จัดการโครงการกล่าวเสริมว่าจะมีการ นำระบบไอทีที่ขบ.ให้บริการในปัจจุบันไปให้บริการแต่ละสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกมากขึ้น เดิมนั้นการพัฒนาจะเน้นเชิงชุมชนแต่ปัจจุบันสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปอย่างมากแล้วภาครัฐจึงจะเน้นการเชื่อมโยงกับระบบโครงข่ายอื่นๆ ได้ด้วย บทบาทแต่ละสถานีทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอก็จะเห็นภาพชัดเจนในภาพรวมตามไปด้วย เพียงแต่ให้ชุมชนเข้ามา ร่วมได้มากขึ้น โดยบางจังหวัดมีแผนพัฒนา รองรับไว้แล้ว มีงบลงทุนแล้ว จึงสามารถเร่งผลักดันได้ทันที ดังนั้นภาพรวมโครงการจึงมีทั้งการพัฒนาสถานีใหม่และปรับปรุงสถานีเดิมให้ทันสมัย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว