“ที่ศรีราชา” พุ่งไร่ละ 100 ล้าน “จีน-ญี่ปุ่น” ลุย!

13 ต.ค. 2560 | 02:58 น.
ที่ดิน 3 จังหวัด “อีอีซี” ราคาพุ่งไม่หยุด “ศรีราชา” นำโด่ง! ปีเดียวทะยานขึ้นกว่าเท่าตัวแตะไร่ละ 100 ล้าน ไล่กวด “พัทยา” ทุน “ไทย-ญี่ปุ่น-จีน” ติดเครื่องลุย ผุดคอนโดฯ-บ้านผู้สูงอายุ

หลังรัฐบาลติดเครื่องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งบก-ราง-น้ำ-อากาศ ในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 กลุ่มทุนทั้งไทยและต่างชาติแห่เข้าปักธงในพื้นที่

นายสุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้า จ.ชลบุรี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ อาทิ ญี่ปุ่นและจีน ติดต่อหอการค้าช่วยหาที่ดินและตึกเก่า เพื่อนำมาพัฒนาทำโครงการ ทั้งที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรร, คอนโดมิเนียม, บ้านพักคนชรา, นิคมอุตสาหกรรม และโรงแรมใน จ.ชลบุรี เพื่อรองรับอีอีซี

[caption id="attachment_219014" align="aligncenter" width="550"] นายสุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้า จ.ชลบุรี (ขอบคุณภาพ : หอการค้าจังหวัดชลบุรี) นายสุนทร ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้า จ.ชลบุรี (ขอบคุณภาพ : หอการค้าจังหวัดชลบุรี)[/caption]

โดยเฉพาะ “โซนศรีราชา” ถนนสุขุมวิท ที่ติดทะเล ตั้งแต่โรงเรียนดาราสมุทร, ค่ายลูกเสือ, โรงพยาบาลสมิติเวช และห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เขตเทศบาล ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงมาก ส่งผลให้ราคาที่ดินซื้อขายปี 2560 ขยับขึ้นเป็นไร่ละ 100 ล้านบาท เทียบจากต้นปี 2559 ทำเลเดียวกันราคาอยู่ที่ไร่ละ 40 ล้านบาท ทั้งนี้เอกชนที่ซื้อที่ดินมี อาทิ นายตัน ภาสกรนที ซื้อที่ดินจำนวน 20-30 ไร่ ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนดาราสมุทร เพิ่งโอนไปเมื่อไม่นานมานี้, ผู้แทนนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ค่ายเบียร์ช้าง ติดต่อหาที่ดินและซากโรงแรม เพื่อพัฒนาในอนาคต

นอกจากนี้ นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง เจ้าของบริษัท รุ่งเจริญ จำกัด ธุรกิจต่อรถพ่วง อดีตสมาชิกวุฒิสมาชิก จ.ชลบุรี (ส.ว.) ซื้อที่ดิน 5-6 ไร่ ตรงข้ามเทศบาลศรีราชา เพื่อพัฒนาเป็นโรงแรม 5 ดาว ส่วนนักลงทุนจีนสนใจที่ดิน 100 ไร่ ร่วมลงทุนกับเอกชนไทย สัดส่วน 49% ต่อ 51% ทั้งในศรีราชาและพัทยา เพื่อพัฒนาเป็นบ้านพักคนชรา

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนยังมีต่อเนื่อง ล่าสุด วัดโรมันคาทอลิกเปิดเซ้งพื้นที่หลายสิบไร่นาน 30 ปี และสามารถต่อสัญญาได้ ซึ่งกลุ่มเบียร์ช้างและซีพีสนใจพัฒนาเป็นห้างสรรพสินค้า

“ที่ดินศรีราชาฝั่งติดทะเลราคาขยับ 100 ล้านบาทต่อไร่ หมดแล้ว เพราะที่ดินหายาก ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินรัฐ ขณะที่ที่ดินเอกชนมีคนติดต่อขอซื้อ 100 ล้านบาทต่อไร่ เจ้าของไม่ขาย เพราะเป็นทุนด้วยกัน”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ด้าน พัทยาไม่มีที่ดินเหลือขาย มีแต่ซากโรงแรมหรือโรงแรมรอขาย ขนาดพื้นที่ 1-2 ไร่ มูลค่า 800-1,000 ล้านบาท หลายอาคาร ซึ่งนักลงทุนจีนสนใจซื้อพัฒนาหรือร่วมลงทุน ส่วนกลุ่มเซ็นทรัลและเทสโก้ โลตัส มีความต้องการจะขยายสาขาเพิ่ม คาดปี 2561 จะเกิดขึ้นเต็มพื้นที่

นางณัฏฐนันท์ คุณาจิระกุล นายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ จ.ระยอง สะท้อนว่า ความเคลื่อนไหวราคาที่ดินใน จ.ระยอง จากกระแสอีอีซียังแรงราคาก้าวกระโดดจากราคา 5 ล้านบาทต่อไร่ ช่วงก่อนรัฐบาลประกาศเขตอีอีซีเป็น 20 ล้านบาทต่อไร่ ในปัจจุบันบริเวณทำเลทางหลวงหมายเลข 36 ซึ่งเป็นถนนสายรอง ส่วนถนนสายหลักติดถนนสุขุมวิท ไร่ละ 40 ล้านบาท จากไร่ละ 15 ล้านบาท และหากรู้พิกัดสถานีรถไฟความเร็วสูงชัดเจน ราคาที่ดินจะขยับอีก 20%

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด กลุ่มอสังหาฯ ส่วนกลาง 2-3 ราย ติดต่อให้สมาคมฯ หาที่ดิน พัฒนานิคมอุตสาหกรรม เนื้อที่ตั้งแต่ 2,000 ไร่ขึ้นไป ทำเลปลวกแดงและบ้านฉาง และนิคมอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เนื้อที่ 200-300 ไร่ โดยให้ราคาไร่ละ 7 แสนบาท ขณะที่ราคาที่ดินอยู่ที่ 1.2 ล้านบาทต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่านี้เจ้าของไม่ขาย


MP24-3269-c-696x385-2

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด กล่าวว่า ราคาที่ดินพัทยามีความต้องการต่อเนื่อง เร็ว ๆ นี้ ราคาแตะ 1 ล้านบาทต่อตารางวา หรือ ไร่ละ 400 ล้านบาท จากปัจจุบันราคา 5 แสนบาทต่อตารางวา ทำเลใกล้ทะเล

นายวสันต์ วิเคราะห์ว่า การขับเคลื่อนอีอีซีของรัฐบาลจะกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก ส่งผลต่ออสังหาริมทรัพย์ คือ ที่อยู่อาศัยรองรับคนทำงานในอีอีซี หากมีการลงทุนให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะทุนญี่ปุ่นที่จะลงทุนนิคมอุตสาหกรรมใหม่ในอนาคต ซึ่งจะดูดซับซัพพลายที่มีอยู่ได้สูง ปัจจุบันมีที่อยู่อาศัยรอการขายใน จ.ชลบุรี ประกอบด้วย บ้านเกือบ 600 โครงการ 70,000 หน่วย ขณะนี้เหลือขาย 20,000 หน่วย และคอนโดมิเนียมเกือบ 300 โครงการ 1 แสนหน่วย เหลือขาย 16,000 หน่วย สำหรับนิคมอุตสาหกรรมขอจดทะเบียนใหม่ 12 แห่ง เนื้อที่ 30,000 ไร่ จะมีแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนคน ระหว่าง 1-3 ปีนับจากนี้ ขณะที่ ปัจจุบันมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นแล้ว 28 แห่ง พัฒนาบนพื้นที่กว่า 1 แสนไร่ มีคนงานกว่า 5 แสนคน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12-14 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว