GE ปักหมุด “อีอีซี” ยึดไทยศูนย์ซ่อม-โลจิสติกส์

12 ต.ค. 2560 | 10:35 น.
“จีอี” มั่นใจไทยแลนด์! ขยายลงทุนในพื้นที่อีอีซี ผุดศูนย์ซ่อมบำรุงหัวรถจักรดีเซล บนเงื่อนไขได้สัญญาเช่า-ซื้อหัวรถจักรล็อตใหญ่ ชี้! ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงขนส่งระบบรางอาเซียน สอดรับกับจีอี ที่มีเครือข่ายธุรกิจพร้อมให้บริการทั้งภูมิภาค

การเดินทางเยือนไทยของ นายวิลเบอร์ รอส รัฐมนตรีพาณิชย์สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการนำคณะนักธุรกิจอเมริกันเข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา หนึ่งในคณะผู้บริหารบริษัทอเมริกันที่แสดงความสนใจจะขยายการลงทุนในประเทศไทยนั้น ได้แก่ “บริษัท จีอี” ซึ่งสนใจเข้ามาลงทุนในพื้นที่อีอีซีฯ โดยจะเป็นการสร้างโรงซ่อมหัวรถจักร เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการซ่อมหัวรถจักรของภูมิภาคอาเซียน

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้โอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายโกวิทย์ คันธาภัสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีอี ประเทศไทยฯ ซึ่งยืนยันว่า จีอีมีความสนใจในโครงการลงทุนดังกล่าวจริง หากเป็นไปได้ศูนย์ซ่อมหัวรถจักรรถไฟดังกล่าวจะอยู่ในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่มีแผนปรับปรุงและก่อสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่เชื่อมโยง 3 ท่าเรือสำคัญอย่างชัดเจน และยังเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับโครงการอื่น ๆ ที่สำคัญระดับภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงระบบรางกับยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมยุคใหม่ (The Belt and Road) ของจีน ที่วิ่งจากยูนนานผ่านมาทางลาว และระเบียงเศรษฐกิจทั้งเส้นตะวันออก-ตะวันตก และเหนือ-ใต้ของอาเซียนอีกด้วย

[caption id="attachment_218299" align="aligncenter" width="503"] TP15-3304-3 โกวิทย์ คันธาภัสระ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท จีอี ประเทศไทยฯ[/caption]

นโยบายของรัฐบาลไทย ที่มุ่งพัฒนาการคมนาคมขนส่งระบบราง ทำให้มีการก่อสร้าง-ปรับปรุงทางรถไฟ และมีความต้องการเพิ่มจำนวนรถไฟมาให้บริการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าได้มากขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทแสดงความสนใจ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าการลงทุนของโครงการศูนย์ซ่อมหัวรถจักรได้ เพราะเม็ดเงินการลงทุนขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ ซึ่งเป็นไปตามปริมาณหัวรถจักรที่จะถูกส่งเข้ามาซ่อมบำรุง ในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) นั้น ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา มีการใช้งานหัวรถจักรดีเซลของจีอีอยู่แล้ว 50 คัน และปัจจุบัน กำลังอยู่ในกระบวนการจัดประมูลเพื่อซื้อและเช่าหัวรถจักรดีเซลล็อตใหม่ อีกจำนวน 100 คัน (เช่า 50 คัน ซื้อ 50 คัน) ซึ่งจีอีเป็นหนึ่งในผู้สนใจเข้าร่วมประมูล ทั้งนี้ คาดว่า การประมูลทั้งการซื้อและการเช่าหัวรถจักรจะแล้วเสร็จภายในปีนี้ และจะประกาศผลในปีหน้า

สำหรับโครงการประมูลเช่าและซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า 100 คัน ในประเทศไทยนั้น ร.ฟ.ท. ระบุวงเงินไว้กว่า 20,000 ล้านบาท เพื่อทดแทนหัวรถจักรเก่าที่ใช้งานมานานเกือบ 50 ปี และเพื่อเพิ่มจำนวนรถให้บริการทั้งด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสาร ให้สอดคล้องกับนโยบายเพิ่มเส้นทางรถไฟใหม่ ๆ ที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคต ปัจจุบัน ร.ฟ.ท. มีหัวรถจักรอยู่กว่า 200 คัน แต่ใช้งานได้จริงราว ๆ 120-130 คันเท่านั้น ซึ่งนับว่า ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน

“ต้องยอมรับ การประมูลมีผลต่อโครงการลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมหัวรถจักร เพราะปริมาณหัวรถจักรของเราที่จะเข้ามาสู่ศูนย์ซ่อมเป็นตัวแปรที่สำคัญ จากอดีตที่ผ่านมา หัวรถจักรดีเซลของจีอี ที่ ร.ฟ.ท. ใช้มา 40-50 ปี และยังใช้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน พิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความคงทนของการใช้งาน หัวจักรรุ่นใหม่ที่เราพร้อมนำเสนอในการประมูล ก็เป็นรุ่นที่ดีที่สุดในขณะนี้” ผู้บริหารของจีอี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ปัจจุบัน “จีอี” มีเครือข่ายธุรกิจหัวรถจักรอยู่ในทุกประเทศของอาเซียน โดยการรถไฟมาเลเซียและอินโดนีเซียนับเป็นลูกค้ารายใหญ่ ขณะที่ การรถไฟของเมียนมาและเวียดนามก็มีนโยบายยกระดับเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายการให้บริการรถไฟทั่วประเทศ หากมีการเชื่อมโยงเครือข่ายระบบรางเข้าด้วยกันแล้ว ไทยนับว่า ศักยภาพสูงในการเป็นศูนย์กลางการซ่อมหัวรถจักรของอาเซียนทั้งภูมิภาค

“จีอี (เจเนอรัล อิเล็กทริก)” เป็นบริษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกัน สำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเส็ตส์ สหรัฐอเมริกา ดำเนินธุรกิจครอบคลุมหลากสาขาอุตสาหกรรม อาทิ พลังงาน พลังงานหมุนเวียน เครื่องยนต์อากาศยาน หัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า เทคโนโลยียานยนต์และวิศวกรรมม ยาและเครื่องอุปกรณ์การแพทย์ อุปกรณ์หลอดไฟ ธุรกิจการเงิน การพัฒนาซอฟต์แวร์ ฯลฯ ในปี 2560 จีอีฯ ได้รับการจัดอันดับในทำเนียบฟอร์จูน 500 เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 13 ของสหรัฐฯ (ในแง่รายได้รวม)

ในปี 2558 ธุรกิจหัวรถจักรของจีอีได้ลงนามกับการรถไฟแห่งประเทศอินเดีย (Indian Railways) ทำสัญญามูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จัดสร้างโรงงานผลิตหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel-Electric Locomotive) ที่รัฐพิหาร และศูนย์ซ่อมบำรุงหัวรถจักรที่อุตตรประเทศ โดยบริษัทจะเป็นผู้ผลิตหัวรถจักรป้อนให้กับการรถไฟอินเดีย จำนวนกว่า 1,000 คัน ภายในระยะเวลา 10 ปี การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นแล้ว โดยจีอีฯ คาดหมายว่า โรงงานและศูนย์ซ่อมบำรุงหัวรถจักรนี้ จะก่อให้เกิดการสร้างงานใหม่ 1,000 ตำแหน่ง ในอินเดียและก่อให้เกิดธุรกิจใหม่แก่ซัพพลายเออร์ในท้องถิ่นประมาณ 60 ราย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12-14 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว