ญี่ปุ่นผนึกกำลังลุยEV ค่ายรถ-ซัพพลายเออร์ ลงขันวิจัยพัฒนาสกัดผู้เล่นรายใหม่

14 ต.ค. 2560 | 09:28 น.
ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น ระดมสรรพกำลังลุยรถพลังงานไฟฟ้า “โตโยต้า”จับมือ “มาสด้า” “เด็นโซ่” เปิดบริษัทใหม่พัฒนา “อีวี”หลังเกือบตกขบวนมุ่งไฮบริด-ฟิวเซลล์ ฝั่งพันธมิตร “นิสสัน” “มิตซูบิชิ” หวังใช้แพลตฟอร์มเดียวกันลดต้นทุน ส่วน “ฮอนด้า” ผนึก “ฮิตาชิ” ทำมอเตอร์ไฟฟ้า และทยอยเผยโฉมต้นแบบก่อนผลิตจริงในปี 2019

เมื่อเทรนด์รถพลังงานไฟฟ้า (EV) รถขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Drive) และ คาร์แชริ่ง (Car sharing) ขยับมาเร็วกว่าที่คิด โดยเป็นทิศทางใหม่ของโลกที่สอดคล้องกันตั้งแต่ระบบขับเคลื่อนและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ทั้งขนาดกลาง ขนาดเล็ก ได้เข้ามาแข่งขันในตลาด ระหว่างที่ค่ายใหญ่ยังขยับตัวช้า เพราะติดกับดักในเทคโนโลยีดั้งเดิมที่ตนเองลงทุนไปมหาศาล

อย่างไรก็ตาม หลายค่ายรถยนต์รายใหญ่เริ่มปรับตัวให้ทันกับกระแสใหม่นี้ จากเดิมที่พยายามลดต้นทุนการพัฒนาด้วยการแลกเปลี่ยนโปรดักต์ในการทำตลาด หรือเป็นรถโมเดลเดียวแต่แปะป้ายขายคนละยี่ห้อ รวมถึงการลงทุนร่วมกันเพื่อให้ได้โปรเจ็กต์ใดโปรเจ็กต์หนึ่งแล้วแยกการทำตลาด ซึ่งมีทั้งเซ็นสัญญาความร่วมมือเป็นกรณีไป หรือเข้าไปถือหุ้นระหว่างกัน เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารและตัดสินใจ

ล่าสุดค่ายยักษ์ใหญ่โตโยต้า เริ่มให้ความสนใจกับรถพลังงานไฟฟ้ามากขึ้น หลังทุ่มสรรพกำลังไปที่รถไฮบริดและรถแบบฟิวเซลล์(พลังไฮโดรเจน) โดยจับมือกับพันธมิตร “มาสด้า” ที่เคยมีโปรเจ็กต์แลกเปลี่ยนและพัฒนารถร่วมกันมาก่อน และซัพพลายเออร์รายใหญ่ “เด็นโซ่”เปิดบริษัท อีวี ซี.เอ. สปิริต จำกัด ระดมสมองเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานของรถพลังงานไฟฟ้าในอนาคต

จากรายงานเปิดเผยว่า โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน จะถือหุ้นในบริษัทนี้ 90% ขณะที่มาสด้า คอร์ปอเรชัน และเด็นโซ่ถือ 5% เท่ากัน โดยทั้ง 3 บริษัทยังต้องส่งวิศวกรของตนเองเข้ามาทำงานในบริษัทใหม่อีกด้วย

โปรเจ็กต์นี้จะใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญของแต่ละบริษัท อย่างโตโยต้ามีแพลตฟอร์มใหม่ TNGA (Toyota New Global Architecture) มาสด้าเก่งเรื่องการวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์และระบบขับเคลื่อนส่วนเด็นโซ่ มีเทคโนโลยีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

ดังนั้น จึงเป็นการขยับเข้าสู่รถพลังงานไฟฟ้าครั้งสำคัญของโตโยต้าและมาสด้า ที่ยังไม่มีรถประเภทนี้ทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบ โดยค่ายแรกเพิ่งตั้งแผนกพัฒนาอีวีเมื่อปีที่แล้ว ส่วนมาสด้ามีแผนเปิดตัวอีวี รุ่นแรกในปี 2020

นอกจากนี้ ยังมีโมเดลธุรกิจของกลุ่ม เรโนลต์-นิสสัน และมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่เพิ่งเปิดแผน “อัลลายแอนซ์ 2022” ประกาศใช้แพลตฟอร์มและระบบขับเคลื่อนร่วมกัน แบ่งปันเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า ระบบขับขี่อัตโนมัติ ภายใน 5 ปีนับจากนี้

MP32-3304-A “เราคาดว่ายอดขายรวมต่อปีของกลุ่มอัลลายแอนซ์ จะทำได้กว่า 14 ล้านคัน สร้างรายได้เกิน 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เมื่อสิ้นสุดแผนดำเนินงานนี้) โดยรถยนต์ 9 ล้านคัน จะถูกพัฒนาบน 4 แพลตฟอร์ม บนระบบขับเคลื่อนที่ใช้ร่วมกัน ซึ่งรถในกลุ่มนี้จะมีสัดส่วนถึง 75% ของยอดขายทั้งหมด” คาร์ลอส กอส์น ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มอัลลายแอนซ์ เรโนลต์ นิสสัน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส กล่าว

โดย“อัลลายแอนซ์ 2022” มีแผนขยายการแบ่งปันเทคโนโลยีรถพลังงานไฟฟ้าครั้งใหญ่ พร้อมพัฒนาและติดตั้งใช้งานระบบขับขี่อัตโนมัติ การเชื่อมต่อยานยนต์ และบริการด้านการขับเคลื่อนรูปแบบใหม่ และจะก้าวขึ้นเป็นผู้ให้บริการรถยนต์ร่วมโดยสารแบบไร้คนขับอีกด้วย

เมื่อพิจารณาจากแผนงานและเป้าหมายที่ตั้งเป้ายอดขาย 14 ล้านคันในอีก 5 ปีข้างหน้า นั่นหมายถึง กลุ่มอัลลายแอนซ์ จะกลายเป็นมหาอำนาจในอุตสาห กรรมยานยนต์ของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนเมืองไทยเริ่มมีบทบาทในแผนงานนี้จากการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน รวมถึงจัดซื้อ การใช้ประโยชน์จาก 2 โรงงานผลิตนิสสัน(บางนา-ตราด กม.21-22) กับมิตซูบิชิ มอเตอร์ส (แหลมฉบัง) ก่อนจะมีโปรเจกต์พัฒนารถรุ่นใหม่ๆอย่าง ไฮบริด อีวี หรือปิกอัพตามมา

ขณะที่ฮอนด้า มอเตอร์ เพิ่งประกาศความร่วมมือกับ “ฮิตาชิ” ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยการเปิดบริษัทร่วมทุนเพื่อพัฒนา ผลิต และขาย มอเตอร์ไฟฟ้า รองรับรถยนต์ไฮบริดและอีวี ซึ่งฮิตาชิถือหุ้น 51% ฮอนด้า 49%

เหนืออื่นใด ฮอนด้า เตรียมทยอยเปิดตัวรถต้นแบบอีวีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่แฟรงก์ เฟิร์ต มอเตอร์โชว์ 2017 กับ Urban EV Concept และโตเกียว มอเตอร์โชว์ ปลายเดือนตุลาคมนี้กับ Sport EV Concept โดยมีแผนขึ้นไลน์ผลิตจริงในอีก2ปีข้างหน้า

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว