บริติช เคานซิล ผลักดันนักวิจัยหนุนไทยแลนด์ 4.0

13 ต.ค. 2560 | 23:55 น.
“แอนดรูว์ กลาส” ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินงานของบริติช เคานซิล ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของทั้งองค์กรและประเทศคู่ธุรกิจที่บริติช เคานซิลเข้าไปดำเนินธุรกิจ สำหรับประเทศไทยการทำงานทุกอย่างจะตอบโจทย์ของประเทศไทยและอังกฤษ เช่น การพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับคนไทย เช่น โครงการ บลูแคมป์ ที่ทำร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ พัฒนาครูให้เก่ง 
เพื่อให้ครูสามารถไปพัฒนาให้เด็กสามารถเข้าใจภาษาอังกฤษได้ดียิ่งขึ้น

MP28-3304-1B อีกส่วนคือ การพัฒนาความเป็นนานาชาติ ให้กับอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ เช่น งานนิวตันฟันด์ ก็อยู่ภายใต้ธีมที่ 2 นี้ 
การทำงานด้านวิทยาศาสตร์ตอนนี้ มันลิงก์กันแล้ว และสามารถลิงก์ทำโปรแกรมร่วมกับมหาวิทยาลัย เช่น กองทุนนิวตัน (Newton fund) ซึ่งโครงการกองทุนนิวตัน เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ในสังคม โดยการใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมและการทำงานร่วมกับประเทศพันธมิตรที่เข้าร่วมโครงการทุนวิจัย Newton Fund ซึ่งมีอยู่ 16 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยทุนนี้มีมูลค่ากว่า 735 ล้านปอนด์ เริ่มโครงการครั้งแรกตั้งแต่ปี 2557 และมีแผนดำเนินโครงการถึงปี 2564

MP28-3304-2B สำหรับในประเทศไทย บริติช เคานซิล ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สนับสนุนงานวิจัยใน
ระดับอุดมศึกษา ภายใต้โครงการ Institutional Links ซึ่งเป็นโครงการทุนวิจัยขนาดใหญ่ภายใต้ทุน Newton Fund ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินการเป็นปีที่ 3 แล้ว และกำลังเปิดรับสมัครผู้สนใจชิงทุนวิจัยรวมมูลค่ากว่า 15 ล้านบาท

MP28-3304-3B โครงการที่ผ่านมาแล้ว เช่น 6 ผลงานวิจัย ได้แก่ โครงการวิจัยการต่อสู้กับมะเร็งด้วยเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายของเรา โดย ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการวิจัยเรื่องการผลิตไบโอดีเซลอย่างคุ้มค่าและประหยัดพลังงานจาก นํ้ามันพืชในประเทศไทย โดย ดร.มาลี สันติคุณาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของภูมิคุ้มกันแต่กำเนิดในการก่อโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อนํ้าดีในชนบทของประเทศไทย โดยดร.บรรจบ ศรีภา มหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการวิจัยการกลายพันธุ์ของโรคพันธุกรรมหายากในเด็ก โดย ดร.วรศักดิ์ โชติเลอศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โครงการวิจัยการป้องกันวัณโรคและโรคเมลิออยด์ โดย ดร.กาญจนา เลิศมีมงคลชัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ ดร.นริศรา จันทราทิตย์ มหาวิทยาลัยมหิดล และดร.ธนาภัทร ปาลกะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจไทยด้วยการเพิ่มมูลค่าข้าว
ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ โดย ดร.ปาริฉัตร หงสประภาส มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

MP28-3304-4B งานวิจัยเหล่านี้ ถือเป็นงานปีแรกที่ดำเนินการอย่างสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ในการใช้วิทยาศาสตร์และงานวิจัยพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ต่อยอดในอุตสาหกรรม พร้อมกับสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ บริติช เคานซิล ยังสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ใน 2 เรื่อง คือ 1. งานคราฟต์ 
หรืองานหัตถกรรม ดูว่าจะเพิ่มคุณค่าได้อย่างไร 2. ครีเอทีฟ ฮับ จะดูว่า จะนำความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมมาช่วยได้อย่างไรให้งานสร้างสรรค์เหล่านั้นเกิดมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

“แอนดรูว์” บอกว่า การวิจัย และการคิดค้นนวัตกรรม ไม่เพียงเป็นการจัดการต่อปัญหาต่างๆ ในสังคม แต่ยังช่วยพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น เป้าหมายของบริติช เคานซิล จะเน้นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอังกฤษให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ซึ่งงานวิจัยที่เราสนับสนุนภายใต้โครงการนี้สามารถตอบสนองต่อปัญหาระดับนานาชาติผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการสังคมทั้งสองประเทศ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว