พัฒนาแรงงานทักษะ ตอบโจทย์อุตสาหกรรม 4.0

12 ต.ค. 2560 | 23:15 น.
MP26-3304-A จากการดำเนินโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้มีการสนับสนุนและทำงานวิจัย เพื่อหาข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานทักษะของอุตสาหกรรมในบ้านเรา โดยงานวิจัยฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง Chisholm Institute Australia ซึ่งเชี่ยวชาญด้านพัฒนาระบบอาชีวศึกษาและอบรมช่างเทคนิคจากประเทศออสเตรเลีย กับภาคเอกชนชั้นนำของไทยในกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ภายใต้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำในประเทศ

ปัญหาที่พบในปัจจุบัน คือ ช่างฝีมือที่มีอยู่ ไม่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น เพื่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะการผลิตช่างฝีมือแรงงานที่ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม จึงถือเป็นความจำเป็นอย่างมาก หากต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และตอบสนองนโยบาย Thailand 4.0 และอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งผลสรุปงานวิจัยฉบับนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะแนวทางที่จะตอบโจทย์ ต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัยสำคัญ

1. การเตรียมความพร้อมให้แก่นักเรียน / นักศึกษา และแรงงาน
2. แนวทางพัฒนาบุคลากรช่างเทคนิคที่มีคุณภาพเหมาะกับอุตสาหกรรม
3. เตรียมความพร้อมและสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ผลวิจัย สามารถสรุปออกมาได้เป็น 2 ส่วน คือ ด้านเทคโนโลยี พบว่า 1. ภาคอุตสาหกรรมไทยยังใช้หุ่นยนต์กระบวนการผลิตน้อยกว่าผู้ผลิตอื่นในภูมิภาคเอเชีย 2. ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของไทยเริ่มปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต 3. แรงงานทักษะสูงยังเป็นที่ต้องการเพื่อรองรับเทคโนโลยีขั้นสูง 4. ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทย 75% ยังคงใช้เทคโนโลยีในระดับตํ่ากว่า 2.5

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ส่วนด้านทักษะแรงงาน หน่วยงานภาครัฐ-เอกชน ควรเตรียมความพร้อม บุคลากรในมิติต่างๆ ได้แก่ รู้เท่าทันเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต ทักษะด้านแมคคาทรอนิกส์ ระบบออโตเมชัน การควบคุมหุ่นยนต์ การประยุกต์ใช้เครื่องมือ เทคโนโลยี วัสดุใหม่ๆ และรับรู้บทบาทและทักษะพื้นฐานที่จำเป็นของช่างเทคนิค

ทักษะที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานปี 2558 และ 2563

1. ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
2. ทักษะเกี่ยวกับกระบวนการทำงาน
3. ทักษะด้านองค์ความรู้
4. ทักษะเกี่ยวกับระบบ
5. ทักษะทางปัญญา

ส่วนแนวทางการสร้างแรงงานยุคอุตสาหกรรม 4.0 ต้องประกอบด้วย แรงงานที่มีทักษะและเชี่ยวชาญ ต้องพัฒนาหลักสูตรการศึกษาที่เน้นสะเต็มศึกษา (STEM Education) ที่ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ คณิตศาสตร์ (Mathematics) รวมถึงควรต้องพัฒนาแรงงานรุ่นใหม่ให้มีความสามารถด้านการสื่อสาร และทักษะทางด้านอารมณ์ (Soft skills) ในการทำงาน สนับสนุน “ฝึกอบรม” ช่างเทคนิค สร้างความตระหนักในอาชีพช่างเทคนิคสู่สังคม พัฒนาความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา

สิ่งที่สำคัญมากสำหรับแรงงานในยุคนี้ คือ ความรู้ด้านไอที ด้านดิจิตอล รวมทั้งการเชื่อมโยงการทำงาน นอกจากความรู้พื้นฐานที่ต้องมีแล้ว ต้องมีความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน เพราะงานอุตสาหกรรม 4.0 คือ งานที่มีความเชื่อมโยงในหลายๆ ส่วน เพราะฉะนั้น การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม รวมทั้งทักษะการแก้ไขปัญหา คือ สิ่งที่แรงงานยุคใหม่ต้องมี
จากงานวิจัยชิ้นนี้ มีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนา 6 ข้อ ได้แก่

1. จัดหลักสูตรผลิตช่างเทคนิค ส่งเสริมหลักสูตรฝึกอบรม หรือ พัฒนาแรงงานวิชาชีพให้มีทักษะพื้นฐานด้านสะเต็มและเทคโนโลยี เน้นการเรียนรู้แบบ Project based learning เพื่อฝึกทักษะปฏิบัติจริง นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมต้องมีส่วนร่วมออกแบบหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเอง

2. จัดหาทรัพยากรสนับสนุน ทั้งการเตรียมบุคลากรฝึกอบรม และเตรียมความพร้อมด้านการสอนแบบบูรณาการ

3. คัดเลือกสถานศึกษาเพื่อทดลองใช้หลักสูตร โดยเลือกสถานที่ที่มีศักยภาพต่อภาคอุตสาหกรรม เช่น สถานที่ตั้ง 4. พัฒนาศักยภาพผู้สอนและฝึกอบรม 5. สร้างเครือข่ายความร่วมมือพัฒนาทักษะด้านเทคนิค และ 6. สร้างความตระหนักรู้ในอาชีพช่างเทคนิคสำหรับอุตสาหกรรมการผลิต เช่น สร้างภาพลักษณ์เชิงบวกสำหรับอาชีพในอุตสาหกรรมการผลิตแก่ ครู ผู้ปกครอง นักเรียนและครอบครัว เน้นประโยชน์ที่จะได้รับจากการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมนี้ เช่น โอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน

โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ได้จัดตั้ง ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ หรือ TVET Hub เพื่อทำหน้าที่อบรมพัฒนาครู ผู้นำทางการศึกษา แรงงาน และนักเรียนอาชีวะให้มีทักษะแรงงานวิชาชีพขั้นสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยขณะนี้จัดตั้งแล้ว 6 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งจะตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นฐานผลิตหลักของอุตสาหกรรมสำคัญที่สอดคล้องตามแนวทางยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน การเกษตร ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ โดยปัจจุบันจัดตั้งแล้วจำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1. ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพล้านนา จ. เชียงใหม่ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 2. ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพศรีวิชัย จ.สงขลา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี
ราชมงคลศรีวิชัย 3. ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพด้านยานยนต์ จ.ชลบุรี ร่วมกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 3 ชลบุรี 4. ศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพสุรนารี จ.นครราชสีมา ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 
เพื่อผลิตช่างเทคนิคป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศ

ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยคาดว่าจะจัดตั้งเสร็จสิ้นภายในปี 2562 เป้าหมายสำคัญ คาดจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสถาบันอาชีวะศึกษากว่า 60 แห่ง อบรมครู 1,800 คน และพัฒนาทักษะแรงงานและนักศึกษาสายอาชีวะกว่า 1.38 แสนคน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว