ศาสตร์พระราชาตำราของพ่อ (2) วิชาชลปราการ

12 ต.ค. 2560 | 13:17 น.
MP22-3304-A วิชา 9 หน้า ศาสตร์พระราชาตำราของพ่อ ที่ทรงใช้พัฒนาชีวิตคนไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน Take A trip ฉบับนี้ ขอนำเสนอ “วิชาชลปราการ” ซึ่งถ่ายทอดการร่วมสืบสานปณิธานพ่อ โดย “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะนำคุณไปเยือน “เขื่อนขุนด่านปราการชล” จ.นครนายก

ผู้ว่าการททท.สะท้อนมุมมองว่า “เขื่อนของพ่อ “ปราการ” ที่ใช้ปกป้องบรรเทาปัญหาอุทกภัยไม่ให้เข้าท่วมจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นปราการด่านสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่กรุงเทพฯ และยังเป็นปราการที่ใช้เก็บกักนํ้าสำหรับหล่อเลี้ยงชีวิตชาวไทย ขณะเดียวกันในฤดูแล้ง นํ้าจากเขื่อนก็จะถูกระบายเพื่อแก้ปัญหาดินเปรี้ยวอีกด้วย”

MP22-3304-3A จาก “นครนายก” สู่ “นครนาสมบูรณ์” ด้วยพื้นที่แม้จะอยู่ใกล้กรุงเทพฯ แต่กลับไม่ได้อุดมสมบูรณ์อย่างที่ใครๆ คิด มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความแห้งแล้งของพื้นที่ ปลูกข้าวไม่ค่อยขึ้น ปลูกพืชอย่างอื่นก็ไม่ค่อยรอด กระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสังเกตว่า ที่นี่มีปริมาณ นํ้าไหลผ่านสูงถึง 1,540 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทว่านํ้ากว่า 90% กลับถูกปล่อยลงสู่ทะเลโดยเปล่าประโยชน์ จึงทรงมีรับสั่งให้กรมชลประทานสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพื่อกักเก็บนํ้าให้ชาวบ้านไว้ใช้ยามขาดแคลน และป้องกันอุทกภัยช่วงหน้าฝน ตลอดจนใช้สำหรับระบายนํ้า เพื่อชะล้างความเป็นกรดของที่ดินในแถบนี้
ระหว่างนั้นในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯมาเยี่ยมราษฎร เพื่อสอบถามถึงสภาพปัญหาที่
แท้จริง ทั้งกำชับชาวบ้านว่าไม่ให้ขายที่ดินเป็นอันขาด โดยตรัสด้วยพระราชอารมณ์ขันว่า เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จ จะโปรดเกล้าฯให้ เปลี่ยนชื่อจังหวัดจาก “นครนายก” เป็น “นครนาสมบูรณ์” แทน

MP22-3304-2A โครงการเขื่อนขุนด่านปราการชล ใช้เวลาศึกษานานถึง 7 ปี ถึงได้เริ่มก่อสร้างในปี 2544 เนื่องจากพระองค์ทรงตระหนักดีว่า การสร้างเขื่อนแต่ละครั้ง หมายถึงการใช้งบประมาณแผ่นดินมหาศาล ยังไม่รวมไปถึงผล กระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติในละแวกนั้น จึงทรงใส่พระทัยกับทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกสถานที่โดยยํ้าว่าต้องไม่ทับซ้อนกับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ หรือป่าสงวนแห่งชาติ รวมไปถึงบ้านเรือน ราษฎร เพราะเขื่อนนี้มีไว้เพื่อบรรเทาความทุกข์ ไม่ใช่เพื่อสร้างความเดือดร้อน หรือแม้แต่ขนาดของเขื่อนก็ต้องเก็บนํ้าไม่ตํ่ากว่า 200 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งนับเป็นปริมาณที่สูงเป็นประวัติการณ์และพระราชทานชื่อว่า เขื่อนขุนด่านปราการชล เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2549 ซึ่งเป็นเขื่อนคอนกรีตอัดบดที่ยาวที่สุดในโลก

MP22-3304-1A เขื่อนเสร็จสมบูรณ์ภายใน 10 ปี กลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่เก็บนํ้าสมัยใหม่ของไทย เพราะถึงจะห่างจากกรุงเทพฯเพียง 100 กิโลเมตร แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมใดๆ ทั้งยังมีการนำเทคนิคและวิทยาการสมัยใหม่มาปรับใช้อย่างลงตัว เช่น แทนที่จะใช้คอนกรีตธรรมดาก็โปรดเกล้าฯให้นำคอนกรีตไปบดอัดกับกากถ่านหินจนมีความทนทานสูง สามารถรองรับเขื่อนที่มีความสูงถึง 93 เมตร และยาวกว่า 2.5 กิโลเมตรได้อย่างมั่นคง

ที่สำคัญกว่านั้นคือ เมื่อสร้างเสร็จก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ทันที ผลผลิตในเรือกสวนไร่นาเจริญเติบโตเต็มที่ รวมทั้งยังต่อยอดไปสู่การจัดพื้นที่เพาะพันธุ์สัตว์นํ้า และสถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถมาพายเรือคยัค ล่องห่วงยาง ปิกนิก กันได้ ณ “ปากประตูระบายนํ้าของเขื่อน” นั่งรถรางชมวิวทิวทัศน์ของสันเขื่อนการล่องเรือชมเขื่อน ดื่มดํ่าความงามของนํ้าตกผางามงอน นํ้าตกคลองคราม และนํ้าตกช่องลมได้ และที่สำคัญที่นี่ยังเป็นพระตำหนักประทับของในหลวงรัชกาลที่ 9 เวลาเสด็จฯมาทรงงานที่นี่ ที่เปิดให้ขึ้นชมเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์เท่านั้น

MP22-3304-4A ทั้งหมดเป็นเพราะพระอัจฉริยภาพ ที่ทรงใส่พระทัยเรื่องนํ้าจริงจัง และไม่ ได้มองปัญหาเพียงเฉพาะหน้า แต่ทรงคิดถึงผลลัพธ์ระยะยาว ทำให้ที่นี่กลายเป็นนครนาสมบูรณ์อย่างแท้จริง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12 - 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1