“ออสซี่” เลิกผลิต “รถยนต์” FTA บีบ 5 ค่าย ถอนยวง!

12 ต.ค. 2560 | 13:37 น.
“อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์” ของออสเตรเลีย ที่ยืนยงผ่านกาลเวลามาเกือบ 1 ศตวรรษ กำลังจะปิดฉากลงในวันที่ 20 ต.ค. ศกนี้ เมื่อบริษัท จีเอ็ม โฮลเด้นฯ เตรียมปิดโรงงานเป็นการถาวร ตามหลังบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ฯ ที่ยุบฐานการผลิตไปก่อนแล้ว เมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา

การล่มสลายของอุตสาหกรรมรถยนต์ในดินแดนดาวน์อันเดอร์ เป็นผลมาจากข้อตกลงการค้าเสรีที่ก่อกำเนิดขึ้นปลายทศวรรษ 1990 “ออสเตรเลีย” ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าการเกษตรรายใหญ่ ยอมเปิดตลาดสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อนำสินค้าการเกษตรออกไปบุกตลาดโลก โดยผลลัพท์ก็เป็นไปตามเป้าหมาย แต่นั่นก็เป็นลางร้ายสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในออสเตรเลียเอง

[caption id="attachment_217879" align="aligncenter" width="503"] TP10-3304-b รถโตโยต้าคัมรี่คันสุดท้ายที่ผลิตในประเทศออสเตรเลีย ออกจากสาย การผลิตที่โรงงานในเมืองอัลโทนา รัฐวิกตอเรีย เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา[/caption]

“ฟอร์ด มอเตอร์” ผู้ผลิตรถยนต์อเมริกัน เป็นต่างชาติรายแรกที่เข้ามาผลิตรถยนต์ในออสเตรเลีย ในปี 2468 จากนั้นรายอื่น ๆ ได้แก่ นิสสัน มอเตอร์, มิตซูบิชิ มอเตอร์, โตโยต้า มอเตอร์ ของญี่ปุ่น ก็ตามเข้ามา รวมทั้ง จีเอ็ม ผู้ผลิตค่ายอเมริกัน แต่ทุกรายก็ทยอยถอนยวงการผลิตออกไป เนื่องจากข้อตกลงเปิดตลาดการค้าเสรี ทำให้ภาษีนำเข้ารถยนต์ทั้งคันลดลงเหลือเพียง 5% และการผลิตรถยนต์ในออสเตรเลียกลายเป็นธุรกิจที่ไม่คุ้มค่าการลงทุนอีกต่อไป นิสสันยุติการผลิตไปก่อนในปี 2543 ตามด้วยมิตซูบิชิในปี 2551 เมื่อข้อตกลงเอฟทีเอที่ออสเตรเลียทำกับไทยมีผลบังคับใช้ และส่งผลให้รถยนต์ผลิตในไทยบุกตลาดออสเตรเลียแบบไร้กำแพงภาษี ส่วนฟอร์ดนั้น ปิดฐานการผลิตในปี 2559 ตามด้วยโตโยต้าและจีเอ็มในเดือน ต.ค. ปีนี้

ออสเตรเลียเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่อันดับที่ 16 ของโลก ปี 2559 ยอดขายรถใหม่รวมในออสเตรเลีย อยู่ที่ 1.18 ล้านคัน โดย 90% เป็นรถยนต์นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ไทย เกาหลีใต้ และประเทศอื่น ๆ ที่ทำเอฟทีเอกับออสเตรเลีย แม้ว่าการปิดโรงงานของ 5 ผู้ผลิต จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่มีผลต่อตลาดแรงงาน เช่น กรณีของโตโยต้าส่งผลให้มีคนตกงาน 2,500 คน ส่วนการปิดโรงงานของจีเอ็ม โฮลเด้น คาดว่า จะกระทบ 40,000 ตำแหน่งงาน ทั้งในส่วนของบริษัทเองและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12-14 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1