สนช. ยึดแบบประเทศพัฒนา “เรียกเก็บค่าน้ำ-ขอใบอนุญาต”

13 ต.ค. 2560 | 12:39 น.
สนช. กางตำราเลียนแบบโมเดล “การเก็บค่าน้ำสาธารณะ” ตามอย่างประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่ สมาคมทรัพยากรน้ำเปิดต้นทุนค่าน้ำที่ใช้ในการทำนาในและนอกเขตชลประทาน ต่ำสุด-สูงสุด 5.07-11.98 บาทต่อ ลบ.ม. ... นายกชาวนา ระบุ หากเก็บต้องมีน้ำตามสัญญา

นายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในคณะกรรมาธิการได้มีการนำร่างกฎหมายของประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการจัดสรรสิทธิการใช้น้ำแบบชัดเจน ในรูปแบบของ “ใบอนุญาตการใช้น้ำ” หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Water Licensing” ถือเป็นรูปแบบการจัดสรรการใช้น้ำที่เป็นมาตรฐานของบรรดาประเทศที่พัฒนาแล้ว

โดยมีหลักการพื้นฐาน คือ หากเป็นการใช้น้ำในฐานะปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น เพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน ก็ไม่จำต้องขอใบอนุญาตการใช้น้ำ แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการแสวงหาผลประโยชน์ หรือ ทำกำไรจากการใช้น้ำนั้น ๆ ในแต่ละกรณี จะต้องเข้าระบบขอใบอนุญาตการใช้น้ำ ตัวอย่างประเทศที่มีใบอนุญาตการใช้น้ำ อาทิ ออสเตรเลีย, แอฟริกาใต้, รัฐบริติชโคลัมเบีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

สำหรับสหรัฐฯ การจัดสรรสิทธิการใช้น้ำฯ จะเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรการใช้น้ำของแต่ละรัฐ ซึ่งใบอนุญาตการใช้น้ำจะถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดารัฐทางตะวันตก ซึ่งมีสภาพแห้งแล้ง เป็นทะเลทราย มีทรัพยากรน้ำค่อนข้างจำกัด และเป็นรัฐที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น รัฐแอริโซนา, แคลิฟอร์เนีย, โคโลราโด, นิวเม็กซิโก, เท็กซัส เป็นต้น

นายสุรจิต กล่าวอีกว่า ความต้องการน้ำแบ่งออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.เพื่ออุปโภคบริโภค 2.เพื่อรักษาระบบนิเวศ 3.เพื่อเกษตรกรรายย่อย 4.เพื่อเกษตรกรเพื่อการเลี้ยงสัตว์/ปลูกพืช ขนาดใหญ่ และ 5.เพื่ออุตสาหกรรมบริการและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดังนั้น 2 ประเภทหลัง ควรต้องมีการจัดเก็บค่าน้ำ ส่วน 3 ประเภทแรก เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานไม่ควรเก็บ


TP8-3304-c

สอดคล้องกับ นายอภิชาต อนุกูลอำไพ นายกสมาคมทรัพยากรน้ำแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้นทุนน้ำมีการคำนวณปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตต่างกัน เช่น ข้าวสาร 1 ตัน ต้องใช้น้ำในการผลิต 3,600 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เนื้อไก่ 1 ตัน ใช้ 4,500 ลบ.ม. เป็นต้น อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาระบุ ต้นทุนมูลค่าการใช้น้ำเสมือนในการปลูกข้าว ใน 4 ภาคของประเทศ ทั้งในเขตและนอกเขตชลประทาน ในการทำนาปีและนาปรัง สูงสุด-ต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 5.07-11.98 บาทต่อ ลบ.ม. อาทิ ภาคเหนือมีมูลค่าการใช้น้ำเสมือนในการปลูกข้าวนาปีในเขตชลประทานเท่ากับ 9.39 บาทต่อ ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 8.50 บาทต่อ ลบ.ม. ส่วนข้าวนาปรังเขตชลประทานเท่ากับ 11.67 บาทต่อ ลบ.ม. และนอกเขต 11.23 บาทต่อ ลบ.ม. เป็นต้น

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมข้าวและชาวนาไทย กล่าวว่า หากรัฐบาลจะเก็บค่าน้ำจริง จะต้องได้น้ำตามที่สัญญา ไม่ใช่เก็บแต่น้ำ ไม่มีให้ เช่นเดียวกับ รศ.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ เห็นว่า ควรจะเก็บค่าน้ำสำหรับชาวนาที่ต้องการจะปลูกข้าวนาปรัง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,304 วันที่ 12-14 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1