KTAM ปลื้ม 6 กองทุนตปท.ผลตอบแทนติด 1 ใน 5 อุตสาหกรรม

10 ต.ค. 2560 | 08:55 น.
บลจ.กรุงไทย เผยผลงาน 6 กองทุนนอก "หุ้นยุโรป -หุ้นอินเดีย-หุ้นอาเซียน-หุ้นเฮลธ์แคร์" ฉลุย "บอนด์ทั่วโลก-ลงทุนหลายสินทรัพย์" เด่นติดชาร์ทผลตอบแทนสูงอันดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม

นางชวินดา หาญรัตกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM เปิดเผยว่า กองทุนต่างประเทศสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ลงทุนและอยู่ในอันดับต้นๆของอุตสาหกรรม จากการจัดอันดับของ Morningstar โดยกองทุนเปิดเคแทม ยูโรเปี้ยน อิควิตี้ ฟันด์ (KT-EURO ) กองทุนเปิดเคแทม อินเดีย อิควิตี้ ฟันด์ (KT-India) และกองทุนเปิดเคแทม อาเซียน อิควิตี้ ฟันด์ ( KT-ASEAN ) อยู่ในอันดับที่1ของกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในอุตสาหกรรม ส่วนกองทุนเปิดเคแทม โกลบอล แม็คโคร ออพเพอทูนิตี้ ฟันด์ (KT-GMO ) อยู่ในอันดับที่ 2 กองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ เฮลธ์แคร์ ฟันด์ (KT-Healthcare-A) อยู่ในอันดับ 3 และกองทุนเปิดเคแทม เวิลด์ คอปเปอร์เรท บอนด์ ฟันด์ (KT-WCORP ) อยู่ในอันดับที่ 4 ของอุตสาหกรรม จากการจัดอันดับจาก Morningstar ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2560

สำหรับภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ขยายตัวกว่า 3.1% โดยมีแรงหนุนจากภาคการลงทุนและการบริโภค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือตลาดแรงงาน ซึ่งล่าสุดจากรายงานตัวเลขอัตราการว่างงานเดือน ก.ย. อยู่ที่ 4.2% ต่ำสุดในรอบเกือบ 17 ปี และแม้ว่าปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ อาจชะลอตัวลงบ้าง แต่ด้วยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งนั้นจะทำให้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต และด้วยตัวเลขเศรษฐกิจที่ดีนั้นทำให้นโยบายการเงินของสหรัฐฯ มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เฟดได้ประกาศลดงบดุลอย่างเป็นทางการซึ่งจะเริ่มดำเนินการจริงเดือน ต.ค. นี้ และดอกเบี้ยนโยบายน่าจะปรับขึ้นต่อเนื่อง แต่บริษัทคาดว่าจะมีผลกระทบค่อนข้างจำกัด เนื่องจากขนาดงบดุลยังค่อนข้างน้อยในระยะแรกเริ่ม และเศรษฐกิจที่ดีขึ้นสามารถทนทานต่อแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นได้

ส่วนเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น GDP ขยายตัวกว่า 2.3 % จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุน สอดคล้องกับดัชนีอื่นๆ ทั้ง PMI และอัตราการว่างงาน นอกจากนี้ประเด็นความเสี่ยงทางการเมืองของยุโรปลดลงไป ภายหลังจากผ่านการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี โดยในทั้ง 2 ประเทศ ผู้ชนะการเลือกตั้งคือฝ่าย Pro-Euro ทำให้เป็นอีกแรงที่ช่วยสร้าง Sentiment เชิงบวกให้กับฝั่งยุโรปด้วย จึงเป็นสาเหตุให้เม็ดเงินไหลเข้าไปยังตลาดฝั่งยุโรป และค่าเงินยุโรปที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้น ตลาดแรงงานก็มีแนวโน้มที่ดีด้วย ขณะที่แนวโน้มนโยบายการเงินยังผ่อนคลาย แต่อาจลดการผ่อนคลายลงได้ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น คาดว่าในการประชุมนโยบายการเงินเดือน ต.ค. ECB น่าจะส่งสัญญาณลดวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรลง พร้อมกันนั้นน่าจะมีการขยายระยะเวลาการซื้อพันธบัตรต่อไปอีก 6-9 เดือนจากเดิมที่สิ้นสุดเดือน ธ.ค.

ในส่วนของเศรษฐกิจอินเดีย ด้วยผลของการพยายามปฏิรูประบบเศรษฐกิจตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่แล้ว ด้วยการ ยกเลิกพันธบัตร 500 รูปี 1,000รูปี ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขจัดปัญหาเงินนอกระแบบ จึงทำให้ GDP ไตรมาสสองในปีนี้เติบโตลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 5.7% ผ่านแรงกดดันจากภาคการบริโภค อย่างไรก็ตามคาดว่า ภาคการบริโภคในอินเดียน่าจะกลับมาดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากเงินในระบบที่เริ่มกลับเข้ามา ประกอบกับอินเดียมีประชากรมากกว่า 1.3พันล้านคน ซึ่งเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน จึงทำให้แนวโน้มภาคการบริโภคกาคเอกชนจะยังคงแข็งแกร่ง

สำหรับเศรษฐกิจประเทศในกลุ่มอาเซียนได้รับผลดีจากการส่งออกในเกือบทุกประเทศ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว รวมถึงการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อีกทั้งภาคการลงทุนของรัฐซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ ในไทยและมาเลเซียการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคล้ายกัน คือจากอุปสงค์ในต่างประเทศทั้งการส่งออกและท่องเที่ยว ด้านอินโดนีเซียได้รับประโยชน์จากภาคการบริโภค ขณะที่เวียดนามได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาคเกษตรและการผลิต โดยรวมแล้วในกลุ่มประเทศ ASEAN มีการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ค่อนข้างดี ประกอบกับปัจจุบันหลายประเทศมีการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อหนุนการเติบโตเศรษฐกิจ จึงคาดว่าน่าจะมีผลเชิงบวกในอนาคต

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 ส่วนอุตสาหกรรม Healthcare ได้รับแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของนโยบาย Healthcare อันใหม่ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะนำมาทดแทน Obamacare จึงทำให้ตลาดยังให้ความคลุมเคลือเกี่ยวกับปัจจัยกระตุ้นดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีทรัมป์ได้มีคำสั่ง Executive Order ให้ผ่อนปรนกฏระเบียบเกี่ยวกับการกำกับบริษัทยา (Pharmaceuticals) มากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนกระตุ้นสำคัญในภาคอุตสาหกรรม โดยกองทุน KT-Healthcare ลงทุนผ่าน Master Fund Janus Global Life Sciences ซึ่งเน้นการลงทุนในกลุ่ม Biotechnology, Pharmaceuticals และกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์ จึงได้รับผลบวกจากนโยบายดังกล่าวและหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของ Healthcare Act อันใหม่ ตลาดคาดการเติบโตของดัชนี MSCI World Healthcare ไว้ที่ +35% ($12.78) ในปีนี้และ +8% ($13.81) ในปีหน้า ด้าน Valuation ราว Forward PE ราว 17x ถือไม่ถูกมากนัก แต่ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ คาดว่าจะยังเป็น Sector ที่ยังช่วยสนับสนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯได้

สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนให้กองทุน KT-WCORP มีแนวโน้มน่าสนใจจากตัวเลขส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Spread) ของตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้ง Investment Grade และ High Yield อยู่ในระดับต่ำ ตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้นและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดไม่รุนแรงและรวดเร็วจนเกินไปเป็นปัจจัยที่ยังสนับสนุนการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนระดับ Investment Grade และ High Yield โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของราคาสินค้าโภคภัณฑ์และผลประกอบการบริษัท ทำให้ลดความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ลงไป เราคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะยังสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มนี้ไปได้อีกระยะหนึ่งจนถึงช่วงกลางปีหน้าที่ต้องระมัดระวังถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ และนโยบายการเงินของ ECB และ BoJ ที่อาจเริ่มเป็นแบบเข้มงวดมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีหน้าเป็นต้นไป ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1