อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หลัง ICAO ปลดล็อกธงแดง?

09 ต.ค. 2560 | 12:29 น.
อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หลัง ICAO ปลดล็อกธงแดง?

Event

องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศปลดธงแดงประเทศไทยจากประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน (SSC) หลังจาก ICAO เข้ามาตรวจสอบไทย ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยการปลดธงแดง จะส่งผลให้สายการบินสัญชาติไทยสามารถเปิดเส้นทางใหม่ เพิ่มความถี่เที่ยวบิน เปลี่ยนขนาดเครื่องบินและให้บริการแบบเช่าเหมาลำ (Chartered flight) ในประเทศที่มีมาตรการออกมาระงับการบิน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทั้งนี้ ICAO ได้ปักธงแดงไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2015 จากปัญหาด้านการกำกับดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือน จึงส่งผลให้ไทยจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลใหม่คือ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เพื่อแก้ไขปัญหา 2 ส่วนหลักคือ การออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC Certification) และการแก้ไขข้อบกพร่อง SSC 33 ข้อ

Analysis

อีไอซีมองว่าการปลดธงแดงจะส่งผลดีต่อไทยทั้งในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว สำหรับอุตสาหกรรมการบิน การปลดธงแดงจะช่วยสร้างความเชื่อถือของหน่วยงานด้านการบินของไทย และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวในการเลือกใช้สายการบินสัญชาติไทย อีกทั้งยังอาจส่งผลให้สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ปรับเพิ่มระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยจากประเภท 2 ซึ่งห้ามการเปิดเส้นทางใหม่ในสหรัฐฯ เป็นประเภท 1 ดังเดิมก่อนถูกปักธงแดง สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางในรูปแบบการเช่าเหมาลำ เนื่องจากหลายสายการบินที่ได้ AOC recertification สามารถกลับมาให้บริการได้แล้ว

การแข่งขันระหว่างสายการบินมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปิดเส้นทางใหม่และการขาดแคลนบุคลากร ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีหลายสายการบินเตรียมเปิดให้บริการในเส้นทางยอดนิยม เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จากสนามบินหลักอย่าง สุวรรณภูมิและดอนเมืองหรือจากสนามบินรองอื่นๆ เช่น อู่ตะเภา เชียงใหม่ ภูเก็ต นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินยังส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงบุคลากรด้านการบิน เช่น นักบิน แอร์โฮสเตส วิศวกร และช่างเทคนิค เป็นต้น

บาร์ไลน์ฐาน Implication

อีไอซีมองข้อจำกัดจากปัญหาด้าน time slot และความจุของสนามบินทั้งในไทยและต่างประเทศ อาจทำให้การเพิ่มความถี่และเปิดเที่ยวบินใหม่ไม่ราบรื่นนัก ในปัจจุบัน สนามบินในไทยหลายแห่งเริ่มมี time slot ที่หนาแน่นแล้ว ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารที่เกินขีดความสามารถในการรองรับ ในขณะเดียวกัน สนามบินในต่างประเทศ โดยเฉพาะสนามบินในเส้นทางที่ได้รับความนิยม เช่น นาริตะของญี่ปุ่น และอินชอนของเกาหลีใต้ ก็ประสบกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน ทำให้การเพิ่มความถี่และขยายเส้นทางอาจทำได้ไม่ง่ายนัก

แผนการพัฒนาไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aeropolis) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) มีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มสูงขึ้น นอกจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมด้านการบินแล้ว การที่ CAAT สามารถปรับปรุงให้มีมาตรฐานในระดับโลกได้ จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ ความเชื่อมั่นและดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในโครงการทั้งสองมากยิ่งขึ้น

ผู้เขียน: ปุญญภพ ตันติปิฎก

           Economic Intelligence Center (EIC)

           ธนาคารไทยพาณิชย์ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว