เกาะติดอีอีซี | หนุน “รถยนต์ไฟฟ้า” / จัดทำแผนลงทุน “พีพีพี”

09 ต.ค. 2560 | 08:11 น.
เกาะติดอีอีซี

หนุน “รถยนต์ไฟฟ้า”
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2560 ว่า ที่ประชุมให้ความเห็นชอบมาตรการสนับสนุนรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าใน 6 ด้าน เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างอุปทาน โดยให้สิทธิประโยชน์ทั้งภาษีส่งเสริมการลงทุน ลดภาษีสรรพสามิต

สำหรับ “รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด” และ “รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดปลั๊กอิน” จะลดอัตราภาษีสรรพสามิต 50% และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จะลดอัตราภาษีเหลือ 2% ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่า จะต้องผ่านการอนุมัติโครงการจากบีโอไอและมีการผลิตและใช้แบตเตอรี่ในประเทศในปีที่ 5 รวมทั้งยกเว้น “ภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูป" เพื่อทดลองตลาด ไม่เกิน 2 ปี

โดยตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปี ประเทศไทยจะมีรถยนต์ไฟฟ้าใช้ประมาณ 20,000 คัน คิดเป็น 2-3% จากจำนวนรถที่ผลิตใช้ในประเทศ 1,000,000 คัน


บาร์ไลน์ฐาน


จัดทำแผนลงทุน “พีพีพี”
นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยถึงการจัดทำงบประมาณปี 2561 ว่า ได้ปรับแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี โดยจะเสนอโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐเอกชน (พีพีพี) 4 โครงการ วงเงินลงทุน 4.46 แสนล้านบาท มากกว่าในปีนี้ เสนอไป 5 โครงการ วงเงิน 3.35 แสนล้านบาท โดยทำได้สูงกว่าแผนยุทธศาสตร์พีพีพีกำหนด อยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ต้องอนุมัติพีพีพี ไม่ต่ำกว่าปีละ 4.7 หมื่นล้านบาท

สำหรับโครงการลงทุน “พีพีพี” ในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะนำพีพีพีฟารสต์แทร็กมาใช้ในการเร่งรัดการอนุมัติโครงการนั้น จะมีโครงการลงทุนแบบพีพีพีที่สำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สุวรรณภูมิ, อู่ตะเภา และดอนเมือง, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและโครงการพัฒนาท่าเรืออู่ตะเภา เป็นต้น


หอการค้าร่วมหารือ
นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงปลายเดือน ต.ค. จะนำคณะกรรมการหอการค้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อเข้าหารือกับ นายคณิต แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอในประเด็นที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้เกิดการลงทุนจากต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่น

สำหรับประเด็นที่จะมีการหารือในเบื้องต้น เช่น ความพร้อมด้านบุคลากร, แรงงาน, ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ที่จะมีการลงทุนในอีอีซี การบูรณาการด้านการทำงานของภาครัฐ เป็นต้น


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว