รถไฟฟ้าสายสีส้ม(ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) เชื่อมกทม.โซนตะวันออกสู่ย่านธุรกิจประตูน้ำ

11 ต.ค. 2560 | 07:34 น.
โดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นแบ่งออกเป็น 2 ช่วงคือ ช่วงแรก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่นเดียวกับช่วงที่ 2 ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ขณะนี้อยู่ระหว่างการเร่งศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้เอกชนร่วมลงทุนก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติดำเนินโครงการเพื่อให้การก่อสร้างและเปิดให้บริการรถไฟฟ้าเส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงกันได้ตลอดทั้งเส้นทางนั่นเอง

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก(ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ) มีจุดเริ่มต้นที่สถานีตลิ่งชัน วิ่งไปตามแนวเขตรถไฟบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่นํ้าเจ้าพระยาผ่านใต้ถนนราชดำเนิน ไปตามถนนหลานหลวง ผ่านยมราช ไปตามแนวถนนเพชรบุรี เมื่อถึงพื้นที่ประตูนํ้าจะเลี้ยวซ้ายถนนราชปรารภ ไปถึงดินแดง ออกสู่ช่วงต้นถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 (ดินแดง) จากนั้นเลี้ยวขวาช่วงผ่านพื้นที่ชุมชนประชาสงเคราะห์เพื่อไปบรรจบกับโครงการช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรีที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯนั่นเอง โดยจุดนี้จะเชื่อมโยงกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (MRT) รูปแบบช่วงนี้จะเป็นโครงสร้างอุโมงค์ใต้ดินทั้งหมด มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร โดยเบื้องต้นได้รับอนุมัติกรอบวงเงินลงทุนประมาณ 1.09 แสนล้านบาท

TP12-3303-B โดยจุดสถานีตลิ่งชันจะเชื่อมโยงได้กับรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่สถานีตลิ่งชัน เช่นเดียวกับสถานีบางขุนนนท์ก็จะเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน ส่วนต่อขยาย บางซื่อ-ท่าพระ และสายสีแดง ได้ที่สถานีนี้อีกด้วย อีกทั้งสถานีศิริราชยังเชื่อมต่อกับสถานีศิริราชของสายสีแดงได้ด้วยเช่นกัน สถานีสนามหลวง อยู่ด้านหน้าอาคารโรงละครแห่งชาติ สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยจุดสถานีนี้จะเชื่อมต่อได้กับสถานีผ่านฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สถานีหลานหลวง อยู่ช่วงแยกหลานหลวง สถานียมราช อยู่บริเวณด้านหน้าบ้านมนังคศิลา สถานีราชเทวี จะเชื่อมต่อได้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) ที่สถานีราชเทวี สถานีประตูนํ้า อยู่บริเวณด้านหน้าห้างพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า สถานีราชปรารภ จะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ สถานีดินแดง อยู่บริเวณด้านหน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 สถานีประชาสงเคราะห์ อยู่บนที่ดินเดิมของโรงเรียนดรุณพิทยาที่เลิกกิจการไปแล้ว ก่อนตรงเข้าสู่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ

โครงการดังกล่าวจะเน้นการใช้พื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงและจอดแล้วจรที่ศูนย์วัฒนธรรมฯเป็นหลัก รูปแบบสถานีใต้ดินจะเป็นเช่นเดียวกับรถไฟฟ้า MRT ที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน ความโดดเด่นของรถไฟฟ้าเส้นทางนี้จะสามารถเชื่อมต่อในจุดสำคัญของโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆได้มากถึง 5-6 จุดที่จะนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและเพิ่มมูลค่าโครงการได้อีกมากมาย

ปี 2561 นี้คงต้องมีลุ้นว่ารฟม.จะสามารถสรุปรายละเอียดเสนอครม.ได้เมื่อไหร่ และประชาชนชาวชุมชนประชาสงเคราะห์จะสามารถต่อสู้ได้สำเร็จหรือไม่ มีลุ้นคำตอบกันในอีกไม่นานนี้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หนึ่งในเมกะโปรเจ็กต์ ที่มีลุ้นอนุมัติประมูลในปี 2561 ภายใต้กรอบวงเงินหลักแสนล้านบาทของรัฐบาลคสช.

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว