‘วรภัค’โบ้ยแบงก์ใหญ่ตัวการล้มEARTH

08 ต.ค. 2560 | 08:53 น.
“วรภัค”อดีตเอ็มดีกรุงไทยโบ้ยแบงก์ใหญ่ผิดขั้นตอนตัดสินเชื่อ “เอิร์ธ” กะทัน หันจนนำไปสู่การเบี้ยวหนี้และต้องเข้าฟื้นฟูกิจการ

นายวรภัค ธันยาวงศ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ออกแถลงการณ์ผ่าน Face Book VORAPAK TANYAWONG ระบุถึงกรณีบริษัทเอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือ EARTH ที่ต้องเข้าฟื้นฟูกิจการว่า ในมุมมองส่วนตัว ปัญหาที่เกิดขึ้นของลูกค้ารายนี้ เท่าที่ได้นำงบการเงินตามที่บริษัทได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มาวิเคราะห์ดูผลการดำเนินงานของบริษัท ก็เป็นปกติยอดขายเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

[caption id="attachment_217010" align="aligncenter" width="335"] วรภัค ธันยาวงศ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) วรภัค ธันยาวงศ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB)[/caption]

ปัญหาของบริษัทเท่าที่ดูน่าจะเกิดจากการที่ธนาคารเจ้าหนี้หยุดการให้วงเงินหมุนเวียนระยะสั้นอย่างกะทันหัน ธนาคารให้เหตุผลว่าลูกค้านำเงินไปใช้ผิดประเภท ซึ่งตัวเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ตอนที่เกิดปัญหานี้

นายวรภัค กล่าวว่า ปกติแล้วถ้าธนาคารต้องการให้ลูกค้าชำระหนี้คืนหรือลดวงเงิน ควรจะมีการเจรจาและวางแผนในการชำระหนี้เป็นขั้นเป็นตอน รวมทั้งธนาคารต้องเข้าไปควบคุมการจัดการทางการเงินของลูกค้าอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่หยุดการให้หมุนวงเงินอย่างกะทันหันและขอชำระหนี้ในทันทีทันใด

การยกเลิกวงเงินในทันทีทันใดจะเป็นผลเสียต่อทั้งลูกค้าและ stakeholders อื่นๆทั้งผู้ถือตราสารหนี้ที่จำนวนมากก็เป็นลูกค้ารายย่อยของธนาคารเองและผู้ถือหุ้นของบริษัทและธนาคาร

“กรณีของ Earth เท่าที่ผมได้มีโอกาสดูจากตัวเลขเท่าที่จะหาได้จากข้อมูลสาธารณะที่เปิดเผยต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ จนกระทั่งถึงจุดที่มีข่าวการหยุดวงเงินโดยธนาคารกรุงไทย บริษัทยังมีการดำเนินธุรกิจตามปกติ (ยอดขายเมื่อสิ้นปี 2559 อยู่ที่ประมาณกว่า 18,000 ล้านบาท และในไตรมาสที่ 1 กว่า 7,000 ล้านบาท) และลูกค้ายังชำระดอกเบี้ยและเงินต้นตามปกติ”

นายวรภัค กล่าวว่า ข่าวล่าสุดคือกลุ่มธนาคารเจ้าหนี้และลูกหนี้ตกลงที่จะให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งหมายความว่ากลุ่มธนาคารเจ้าหนี้ยังเล็งเห็นว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมนี้ยังไปต่อได้ ซึ่งเรื่องนี้ก็ยังแปลกใจว่าถ้าธุรกิจและอุตสาหกรรมยังไปต่อได้ทำไมก่อนหน้านี้ธนาคารเจ้าหนี้รายใหญ่ถึงไประงับวงเงินจนทำให้ลูกค้าขาดสภาพคล่องและเกิดปัญหาลุกลามบานปลายจนถึงทุกวันนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว