กฟผ. ปรับแผนใช้ “พลังงาน” รับมือไฟฟ้าใต้

08 ต.ค. 2560 | 06:42 น.
กฟผ. หวั่น! ไฟฟ้าภาคใต้ดับ ชงปรับแผนการอนุรักษ์และพัฒนาพลังงานทดแทนเพิ่ม หลังโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินล่าช้า สายส่งวงจรที่ 2 ชะงัก ติดพื้นที่ป่า แม้มีคำสั่ง ม.44 ให้เข้าพื้นที่ได้ หวั่นคัดค้าน

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กฟผ. ได้จัดทำข้อมูลเสนอสถานการณ์และแนวทางแก้ไขปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพอใช้ไปยังกระทรวงพลังงาน โดยเสนอให้ปรับเพิ่มแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015) เช่น การประหยัดพลังงานในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องทำทุกพื้นที่ในภาคใต้ แต่อาจดำเนินการเป็นรายจังหวัดที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดพลังงาน รวมถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนให้เพิ่มมากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ เนื่องจาก กฟผ. มีความกังวลเรื่องสถานการณ์ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ ที่มีความเสี่ยงอาจจะดับได้ในช่วง 1-2 ปีนี้ เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นทุกปี ราว 5-6% จากความต้องการใช้ประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ และไม่มีโรงไฟฟ้าใหม่ก่อสร้างได้ทันกับความต้องการที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ต้องชะลอก่อสร้างออกไป ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้เริ่มตึงตัวแล้ว ต้องอาศัยไฟฟ้าส่งจากส่วนกลางเข้าไปเสริม 200-300 เมกะวัตต์/วัน และขึ้นไประดับ 500-600 เมกะวัตต์ ในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน

โดยที่ผ่านมา กฟผ. พยายามแก้ปัญหาในการเพิ่มสายส่งวงจรที่ 2 ขึ้นมา 13 โครงการ 90 เส้น ซึ่งจะทำให้สามารถส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปช่วยเสริมเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต์ ที่แต่เดิมคาดว่า จะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2562-2563 แต่เมื่อเข้าไปดำเนินการ กลับพบว่า ติดปัญหาพื้นที่ป่าสงวน ป่าต้นน้ำ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ จึงได้ขออำนาจจาก คสช. ออกมาตรา 44 มาใช้ เพื่อแก้ปัญหา แต่ กฟผ. ก็ยังหวั่นใจอยู่ว่า จะเกิดการคัดค้านขึ้นหรือไม่ จึงอยู่ระหว่างคัดเลือกว่า จะเร่งดำเนินการระบบส่งเส้นใดก่อน แต่ส่วนตัวมองว่า สายส่งช่วงจอมบึง-บางสะพาน-สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต มีความจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ยังเติบโตต่อเนื่อง

ดังนั้น จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว หากไม่เร่งจัดทำแผนการอนุรักษ์พลังงาน หรือ ประหยัดการใช้ไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เกรงว่า ช่วงปลายปี 2561-2562 อาจจะเกิดไฟฟ้าดับหรือไฟตกในบางพื้นที่ของภาคใต้ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวได้

[caption id="attachment_27707" align="aligncenter" width="381"] ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร[/caption]

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กฟผ. แจ้งว่า มีความกังวลเรื่องไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ในปี 2561-2562 พร้อมทั้งเสนอให้เพิ่มแผนอนุรักษ์พลังงานในภาคใต้ ซึ่งทางกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการพิจารณาและจัดทำแผนดังกล่าว พร้อมส่งเสริมรับซื้อไฟฟ้าแบบ SPP Hybrid Firm เพิ่มขึ้น

[caption id="attachment_95628" align="aligncenter" width="503"] นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)[/caption]

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์ไฟฟ้าภาคใต้ยังเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งโครงการสายส่งไฟฟ้าภาคใต้และโรงไฟฟ้าถ่านหินล่าช้า จะทำให้ความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้น่ากังวลมากขึ้น การแก้ปัญหาเบื้องต้นขณะนี้ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เก่ียวข้อง อาทิ กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งประชาชนในพื้นที่ที่โครงการผ่าน เนื่องจากหากโครงการล่าช้าออกไปมาก ก็จะกระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะโครงการปรับปรุงระบบสายส่งภาคตะวันตก-ภาคใต้ ช่วงจอมบึง-บางสะพาน-สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 800 กิโลเมตร ซึ่งทาง กฟผ. แจ้งว่า จำเป็นต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในเดือน ต.ค. นี้

“หากโครงการสายส่งไฟฟ้ามีความล่าช้าออกไป ก็กังวลเรื่องความมั่นคงไฟฟ้า โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ จึงอยากขอให้ประชาชนที่โครงการสายส่งผ่านพื้นที่โปรดเข้าใจ ซึ่งได้สั่งการให้ กฟผ. เร่งศึกษาให้ชัดเจนภายในเดือน ต.ค. นี้”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว