“ปลัดดีอี” เดินหน้านโยบายหลัก “ดิจิตอล” ผลักดันธุรกิจ

11 ต.ค. 2560 | 11:55 น.
เปิดตัวอย่างเป็นทางการ หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแต่งตั้งให้ น.ส.อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ย้ายข้ามห้วยมานั่งตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา น.ส.อัจฉรินทร์ ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ และได้เลือกเอาวันที่ 5 ต.ค. 2560 แถลงแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกระทรวง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561

แนวทางและแผนปฏิบัติงานของปลัดหญิง คนที่ 3 ของกระทรวงดีอี จะมีทิศทางเป็นอย่างไร ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้!

นำ “ดิจิตอล” ดันธุรกิจ
“เหตุผลที่มานั่งตำแหน่งปลัดกระทรวงดีอี เนื่องจากว่า ทางท่านพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดีอี ได้ติดต่อขอให้ย้ายมาทำงานที่นี่เพื่อสานภารกิจรัฐบาล อิงกับงานที่เคยทำในกลุ่มคลัสเตอร์มาสู่ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อผลักดันสู่ยุคดิจิตอล แต่เนื่องจากเป็นกระทรวงใหม่ บทบาทภารกิจต่าง ๆ เปลี่ยนไป เมื่อเข้าสู่กระทรวงใหม่ หน้าที่จึงต้องผลักดันภารกิจของกระทรวงด้วยการนำ ‘ดิจิตอล’ มาผลักดันธุรกิจ”

ยกระดับ “เน็ตประชารัฐ”
“สำหรับภารกิจแรก สานต่องานที่รัฐบาลได้มอบหมายมาแล้วให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ 1.โครงการเน็ตประชารัฐ ตรวจงานว่า ได้ผลตามเป้าหมายหรือไม่ โดยภายในสิ้นปีมีจำนวนทั้งสิ้น 24,700 หมู่บ้าน รวมถึง ‘เน็ตชายขอบ’ ด้วย

ส่วนของฮาร์ดแวร์ติดตั้งเสร็จไปส่วนหนึ่งแล้ว แต่ยังต้องมีการผลักดันการใช้งาน ด้วยการปูพื้นฐานความรู้ให้กับคนในหมู่บ้านพื้นที่ห่างไกล ดังนั้น จึงต้องมีหน้าที่ผลักดันให้เกิดการรับรู้ การเข้าใจเรื่องของอินเตอร์เน็ต และนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการสร้างความรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งาน คาดว่า 6 เดือน ต้องปูพื้นให้ได้มากที่สุด ด้วยการสร้างความรู้ โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วน รวมทั้งกระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดการเรียนการสอน อบรมการใช้งานด้านดิจิตอล มีการติดตั้งศูนย์ดิจิตอลชุมชน ซึ่งจะเริ่มทำตั้งแต่ ต.ค. โดยจะจัดกลุ่มตามสถานที่นั้น ๆ”

[caption id="attachment_216617" align="aligncenter" width="503"] อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย[/caption]

หวังลดความเหลื่อมล้ำ
“เจตนารมย์ของการดำเนินการติดตั้งโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อต้องการสร้างประโยชน์ และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท ทำให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมใน 4 ด้านหลัก คือ e-Commerce ที่คนในชุมชนสามารถจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ สร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชน ด้าน e-Health ระบบการแพทย์ทางไกล โดยใช้อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงในการสื่อสาร เพื่อบริการทางการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับศูนย์การแพทย์ห่างไกล หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีข้อจำกัดในการรักษาผู้ป่วย ด้าน e-Education ทำให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงการใช้อินเตอร์เน็ต สร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้ของเยาวชนทั่วประเทศ และด้าน e-Government ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถบูรณาการระหว่างหน่วยงาน โดยมีชุมชนและประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งหมดนี้ คือ สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง”

ปี 61 กดปุ่ม “บิ๊กดาต้า”
“ส่วนเรื่องการจัดทำ ‘บิ๊ก ดาต้า ประเทศไทย’ ขณะนี้ได้มีคณะกรรมการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ ท่านนายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เห็นความสำคัญเรื่องของข้อมูลที่จะมาช่วยในการตัดสินใจในการวางนโยบายต่าง ๆ โดยข้อมูลจาก ‘ดาต้า’ จะนำมาใช้ประโยชน์ตรงนี้ได้ สำหรับเป้าหมายในการสร้างดาต้าเบสจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2561 ซึ่งนายกฯ ได้กำหนดกรอบระยะเวลา 3 เดือน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการหลัก ๆ 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1.เรื่องการให้บริการประชาชน ด้วยการยกเลิกใช้สำเนาบัตรประชาชนกับหน่วยงานราชการต่าง ๆ โดยจะประสานงานเพื่อดึงข้อมูลบัตรประชาชนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2.เรื่องการบูรณาการด้านน้ำ เพื่อบรรเทาสาธารณภัย 3.เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องแผนที่ประเทศไทยที่จะกำหนดให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน และ 4.เรื่องสภาความมั่นคง เช่น เรื่องค้ามนุษย์ ยาเสพติด ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ เพื่อให้ก้าวสู่การเป็นดิจิตอลอีโคโนมีและ e-Government”

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ดัน IoT เป็นศูนย์กลาง
“ขณะที่ ‘โครงการดิจิตอลพาร์ก’ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยในเบื้องต้นจะเป็นที่ตั้งของสถาบันไอโอที เพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากรภาคเอกชน ซึ่งจะจับมือกับสถาบันการศึกษาจากทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาองค์ความรู้ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนานวัตกรรมเพื่อเป็นโพรโตไทป์ และพื้นที่ส่วนที่เหลือของดิจิตอลพาร์กก็จะให้บริษัทเอกชนเข้ามาลงทุน”

ถกข้อพิพาทไทยคม
“ส่วนกรณีเรื่องข้อพิพาทระหว่าง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ในเรื่องของดาวเทียม ดวงที่ 7 และ 8 นั้น เป็นหน้าที่ของทางกระทรวงและเป็นเรื่องของสัญญา โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของทุกฝ่ายและผลประโยชน์ของประเทศ”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1