อสส.พร้อมรื้อคดี “ทักษิณ” เอี่ยวโกงกู้กรุงไทย-แก้สัมปทานมือถือ

06 ต.ค. 2560 | 09:31 น.
อัยการสูงสุดสั่งรื้อคดี 'แม้ว' เอี่ยวโกงกู้กรุงไทย-แก้สัมปทานมือถือ เตรียมชงคณะทำงานอัยการตรวจสอบรายละเอียดก่อนยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯนักการเมืองพิจารณาคดีลับหลังได้ตามกฎหมายใหม่ ส่วนคดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง อสส.ชี้ขาดสมควรสั่งฟ้อง ประสาน ปอท. ออกหมายจับ ย้ำ"ยิ่งลักษณ์"หนีคดีทุจริตไม่ใช่การเมือง

- 6 ต.ค. - นายเข็มชัย ชุติวงษ์ อัยการสูงสุดคนใหม่ ให้ความเห็นกรณีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่ที่เพิ่งบังคับใช้ว่า จะส่งผลกระทบต่อ คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารกรุงไทยฯ กับกลุ่มกฤษดามหานคร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในส่วนของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไม่เดินทางมาศาล และถูกออกหมายจับ รวมถึงคดีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือและดาวเทียมเป็นภาษีสรรพสามิต หรือไม่ ว่า คดีดังกล่าวเป็นการยื่นฟ้องคดีในกฎหมายเก่าปี พ.ศ.2542 (พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542) ที่เดิมไม่สามารถที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีลับหลังโดยที่ไม่มีตัวจำเลยได้แต่กฎหมายใหม่ที่เพิ่งออกมา พ.ศ.2560 มาตรา 28 ให้ศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย หรือ พิจารณาคดีลับหลัง

ดังนั้นจึงเป็นการคาบเกี่ยวกับการออกกฎหมายใหม่ แต่ในบทเฉพาะกาล มาตรา 69 ของกฎหมายใหม่ได้ระบุไว้ว่าการดำเนินการใดที่เกิดขึ้นมาโดยสมบูรณ์ตามกฎหมายเก่าแล้วนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ให้พิจารณาต่อไปตามกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้ ดังนั้นความเห็นส่วนตัวจึงเห็นว่าคดีดังกล่าวสามารถรื้อฟื้นกลับมาพิจารณาใหม่ได้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1

ส่วนขั้นตอนจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้โดยให้อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เดิมเคยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบคดีเป็นผู้เสนอรายชื่อคณะทำงานที่เหมาะสมขึ้นมา และยังไม่มีการกำหนดระยะเวลา ก่อนยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯนักการเมืองขอให้นำคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ ซึ่งหากศาลฎีกาฯนักการเมืองเห็นตรงกันในการบังคับใช้กฎหมายส่วนนี้ก็สามารถดำเนินการต่อได้

แต่ส่วนที่ประธานคณะกรรมมาธิการ ซึ่งเป็นผู้แทนจากสำนักงานศาลยุติธรรมเคยมีความเห็นโดยไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยในชั้นของก่อนออกกฎหมายมาบังคับใช้ โดยเห็นว่าการพิจารณาลับหลังจำเลย อาจไม่เป็นธรรมนั้นตนเห็นว่า ขึ้นอยู่กับการตีความของบุคคล

เมื่อถามว่ายังเหลือคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนายทักษิณเอง เช่นคดีปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า หรือเอ็กซิมแบงก์ให้กับรัฐบาลเมียนมาร์เพื่อทำสัญญากิจการโทรคมนาคม และคดีทุจริตโครงการออกสลากหวยบนดินนั้นจะใช้หลักปฎิบัติเดียวกันที่ ป.ป.ช. จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลหรือไม่ นายเข็มชัย ระบุว่า กรณีตัวอย่างที่อัยการเป็นผู้ยื่นฟ้องและจะมีการตั้งกรรมการนั้นเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของตนที่เห็นว่าสามารถยื่นคำร้องต่อศาลได้ แต่ใน ป.ป.ช. จะต้องเป็นพิจารณาเอง

ส่วนคดีที่ตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. เคยรวบรวมหลักฐานคดีที่นายทักษิณ หมิ่นสถาบันเบื้องสูง และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ปี 2558 ซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นภายนอกราชอาณาจักรนั้น ขณะนี้มีความเห็นแล้ว โดยร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดคนก่อนได้มีการทำความสมควรสั่งฟ้อง

ภายหลังจากที่อดีตอัยการสูงสุดโดยนายตระกูล วินิจนัยภาค ได้ตั้งอัยการสำนักสอบสวนร่วมสอบ ปอท.

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

จากนี้เมื่อมีคำสั่งสมควรสั่งฟ้อง นายทักษิน แล้วก็เหลือเพียงกระบวนการติดตามตัวโดยประสาน ปอท. ให้ดำเนินการออกหมายจับหากทราบแหล่งที่อยู่ชัดเจนก็จะต้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนทันที เพื่อดำเนินกระบวนการฟ้องคดี ซึ่งคดีนี้เป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีทุตริต ที่อยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯนักการเมืองการฟ้องจะต้องมีตัวจำเลยยื่นต่อศาล

พร้อมกันนี้นายเข็มชัย ยอมรับว่า มีความกังวลเกี่ยวกับกระแสสังคมที่มีหลายฝ่ายมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันแต่มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ เนื่องจากมีการออกกฎหมายมาแล้ว หากไม่ดำเนินการก็จะถูกวิจารณ์จากอีกฝ่ายว่าไม่บังคับใช้กฎหมาย แต่เมื่อเรื่องถึงขั้นตอนศาลแล้วศาลจะจะเห็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ส่วนการขอสถานะลี้ภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องคดีจำนำข้าวและศาลฎีกาฯ นักการเมือง พิพากษาลงโทษจำคุก 5 ปี ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะขอสถานะลี้ภัยที่ประเทศใด ซึ่งการขอลี้ภัยเป็นเรื่องที่ประเทศนั้นๆจะต้องเป็นผู้พิจารณาไปตามกฎหมายประเทศ ซึ่งอัยการไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับส่วนนี้ โดยการลี้ภัยจะต้องถามจากกระทรวงการต่างประเทศ แต่ในส่วนกระบวนการของไทยที่จะทำได้คือต้องติดตามตัวจำเลยถึงแม้นางสาวยิ่งลักษณ์ จะได้รับสถานะลี้ภัยในประเทศใดอัยการก็จะต้องยื่นขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากเป็นคนละประเด็นกัน

โดยการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนต้องทราบแหล่งที่อยู่ที่ชัดเจนก่อน ถึงจะพิจารณาในส่วนกฎหมายของแต่ละประเทศได้ แต่สุดท้ายการพิจารณาก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของฝ่ายบริหารในประเทศนั้นด้วยว่า จะให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ แม้ตามหลักสากลจะไม่ส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามความผิดทางการเมือง แต่มันก็ขึ้นอยู่กับการตีความว่าความผิดทางการเมืองครอบคลุมแค่ไหน แต่หากประเทศใดมีการขอรายละเอียดคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เราก็จะต้องยืนยันว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นคดีทุจริต ไม่ใช่คดีความผิดทางการเมือง

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1