ศาสตร์พระราชาตำราของพ่อ (ตอน 1) วิชาปรุงไทยในใจคน

10 ต.ค. 2560 | 12:16 น.
เกิดบนผืนแผ่นดินไทยแสนจะโชคดี เพราะไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด ซ่อนตัวอยู่แห่งหนตำบลไหน ยากลำบาก หรือทุรกันดารเพียงใด “ในหลวง รัชกาลที่ 9” ก็เสด็จพระราชดำเนินไปหาราษฎรของพระองค์ เพื่อชี้แนะและทรงคิดหาทางแก้ไขปัญหาในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องของดิน ฟ้า ป่า ฝน น้ำ ความยากจน เมืองไทยจึงเปรียบเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ เกิดเป็นโครงการในพระราชดำริมากมายกว่า 4,000 โครงการ

MP22-3303-3B-2

“ศาสตร์พระราชา” หรือคำสอนของพระองค์ จึงเปรียบเสมือนวิชาของพ่อ คือ ของขวัญที่ล้ำค่า และกลายเป็นตำราของแผ่นดินไทยตราบชั่วนิรันดร์ ดังนั้น เพื่อเป็นการต่อยอดศาสตร์พระราชาในการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดทำสารคดีชุด “วิชา 9 หน้า” โดยดึง 9 บุคคลผู้มีอิทธิพลทางความคิดในแต่ละแวดวง มาร่วมสืบสานปณิธานพ่อ ผ่านการนำเสนอใน 9 วิชา ที่ทรงใช้พัฒนาชีวิตคนไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

Take a Trip ฉบับนี้ ขอนำเสนอ “วิชาปรุงไทยในใจคน” ถ่ายทอดโดย “กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งนำคุณไปเยือน “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี” เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดย รมว.การท่องเที่ยวฯ สะท้อนมุมมองว่า “รัชกาลที่ 9 ทรงมุ่งเน้นอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยให้สืบต่อเนื่องยาวนาน ‘ปรุง’ ความรักษ์ไทยสู่ใจชาวไทยและอนุชนรุ่นหลัง ด้วยการโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูประเพณีเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติของตนและเผยแพร่ให้ชาวโลกได้ประจักษ์”

มาร่วมสืบสานตำนานเรือ สร้างสรรค์ตำนานไทย กับกระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งจะมีเรือหลวงเคลื่อนขบวนไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ฝีพายแต่งชุดเต็มยศ พายเป็นจังหวะจะโคน สอดประสานพร้อมเสียงเห่เรือ ดังกึกก้องทั่วท้องน้ำ เพื่อเฉลิมพระเกียรติองค์ประมุขไทย อันเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาจวบจนสมัยรัชกาลที่ 7 จึงหยุดชะงักไป ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่สืบเนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และสภาพการเมืองการปกครองในห้วงเวลานั้น

MP22-3303-1B-2

ผ่านมาจนถึงสมัยของ “ในหลวง รัชกาลที่ 9” เมื่อพระองค์เสด็จฯ ไปยังโรงเก็บเรือพระราชพิธีที่คลองบางกอกน้อย เมื่อปี 2495 ทอดพระเนตรเห็นเรือพระราชพิธีต่าง ๆ อยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมและเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงมีพระราชดำริให้ซ่อมแซมและจัดทำทะเบียนเรือพระราชพิธีต่าง ๆ และการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคในรัชกาลที่ 9 เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2500 เพื่อฉลองปีมหามงคล 25 พุทธศตวรรษ และปี 2502 เมื่อพระองค์เสด็จฯ ถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามฯ ซึ่งจัดเรือได้เต็มขบวน

นอกจากนี้ ยังโปรดเกล้าฯ ให้มีการต่อยอดและพัฒนาศิลปะเรืออยู่เสมอ มีการจัดสร้าง “เรือพระนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9” ซึ่งถอดแบบจากเรือพระที่นั่งลำเดิมที่ชำรุดเสียหาย เหลือเพียงโขนเรือที่เป็นรูปพระนารายณ์ประทับอยู่บนหลังของพญาครุฑ และยังมีการจัดขบวนเรือหลวงออกแสดงในช่วงที่ไทยเป็นเจ้าภาพกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก 2003) เมื่อปี 2546 ทำให้ชาวโลกได้ประจักษ์ถึงภูมิปัญญาของไทยที่สั่งสมมานานหลายร้อยปี

ภายในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเรือพระราชพิธีแห่งนี้ นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมเพื่อศึกษาเรื่องราวของเรือพระราชพิธีได้อย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรือพระราชพิธีต่าง ๆ อย่าง “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ” ที่กรมศิลปากรร่วมกับกองทัพเรือและสำนักพระราชวังได้จัดสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย “ในหลวง รัชกาลที่ 9” เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ที่ทรงครองราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี 2539

MP22-3303-B-2

ทั้งภาพความงดงามของ “เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์” ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แต่องค์ปัจจุบันสร้างขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 แทนลำเดิมในสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูง ใช้เป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระราชินีเท่านั้น รวมถึงความสวยงามของ “เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช” ซึ่งสร้างขึ้นมาใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 6 แทนลำเดิมที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญหรือผ้าพระกฐินในกระบวนพยุหยาตราชลมารค

นอกจากนี้ ยังได้จัดแสดงบัลลังก์บุษบก บัลลังก์กัญญา สิ่งของเครื่องใช้ เครื่องแต่งกายของเหล่าฝีพายตำแหน่งต่าง ๆ มีการจำลองกระบวนพยุหยาตราชลมารคให้ได้เห็นภาพอย่างชัดเจนด้วย จารีตประเพณีที่ห่างหายไปนาน ที่ทรงโปรดฯ ให้ฟื้นฟูให้คนไทยได้ภาคภูมิใจถึงศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ อันเป็นมรดกของประเทศ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว