คำพิพากษากลางคดี “ข้าวจีทูจี” (จบ) ดึง “กว่างตง-ห่ายหนาน” ทำสัญญาเก๊

10 ต.ค. 2560 | 08:53 น.
กรณีของ นายสมคิด เอื้อนสุภา (จำเลยที่ 7) ศาลรับฟังเป็นที่ยุติ ว่า เคยทำงานที่บริษัท เพรซิเดนท์ฯ ที่ นายอภิชาติ เป็นเจ้าของ ทั้งยังมอบอำนาจให้ไปจดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท สยามอินดิก้าฯ เมื่อปิดตัวลง ได้ย้ายมาทำงานกับ บริษัท สยามอินดิก้าฯ หลังทำสัญญาฉบับที่ 1 และ 2 บริษัท กว่างตงฯ มีหนังสือแจ้งกรมการค้าต่างประเทศ ว่า มอบอำนาจให้เป็นผู้ชำระเงิน รับมอบข้าว จัดการเรื่องเอกสาร รวมถึงซื้อแคชเชียร์เช็คไปชำระค่าข้าวตามสัญญา

อ้างว่า ได้ลาออกตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2553 มาทำงานรับส่งเอกสารทั่วไป โดยมีหนังสือสำนักงานประกันสังคมเป็นหลักฐาน ว่า ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนที่บริษัท สยามอินดิก้าฯ จนถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2553 แต่เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2554 นายสมคิดได้เปิดบัญชีระบุคำขอเปิดบัญชี ว่า ทำงานอยู่ที่ บริษัท สยามอินดิก้าฯ แม้จะอธิบายว่า การระบุเช่นนั้นเป็นความเข้าใจผิดของพนักงานธนาคาร แต่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงินของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ จำนวนมาก เช่น วันที่ 8 ส.ค. 2555 ได้ฝากเงินเข้าบัญชีบริษัท สยามอินดิก้าฯ ซึ่งเปิดไว้ในนามของ น.ส.เรืองวัน 150 ล้านบาท อีกทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏพบพิรุธหลายประการ เช่น วันที่ 20 ก.ย. 2555 ได้ไปรับเอกสารที่ บริษัท สยามอินดิก้าฯ เพื่อนำไปเบิกเงินจากบัญชี น.ส.เรืองวัน 35 ล้านบาท มาซื้อแคชเชียร์เช็ค แล้วนำกลับมาส่งให้บริษัท ซึ่งมีที่ตั้งสำนักงานห่างจากธนาคารเพียง 500 เมตร

นายสมคิดมีฐานะเป็นพนักงานของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ ตลอดมา จนถึงขณะเกิดเหตุ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รับมอบอำนาจของ บริษัท กว่างตงฯ และทำหน้าที่ซื้อแคชเชียร์เช็คหลายฉบับ มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท แสดงว่า เป็นบุคคลที่กลุ่มบริษัท สยามอินดิก้าฯ กับพวกไว้วางใจ อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำตั้งแต่ต้นและร่วมอยู่ในแผนงาน แอบอ้างนำบริษัท กว่างตงฯ มาทำสัญญาฉบับที่ 1-3 กับกรมการค้าต่างประเทศโดยมิชอบ และเป็นผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 4 อีกจำนวนหนึ่ง


บาร์ไลน์ฐาน

ส่วนนายรัฐนิธ (จำเลยที่ 8) นั้น หลังทำสัญญาฉบับที่ 1 และ 2 เพียง 4 วัน ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจในการชำระเงิน รับมอบข้าว จัดการเอกสาร กับกรมการค้าต่างประเทศ และเป็นผู้ซื้อแคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 1 มากกว่า 4,639 ล้านบาท มาทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด ทำหน้าที่ประสานงานที่ บริษัท คอนสแตนด์ เอนเนอจีฯ ที่มีนางโจวจิ้งและนางอรวรรณเป็นกรรมการ โดยนางอรวรรณนั้น ได้ระบุในคำขอเปิดบัญชีว่า ทำงานที่บริษัท สยามอินดิก้าฯ จากพยานหลักฐานชี้ให้เห็นว่า นายรัฐนิธเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจของ บริษัท กว่างตงฯ มีความเกี่ยวข้องกับนางอรวรรณ ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกับบริษัท สยามอินดิก้าฯ

อย่างไรก็ตาม ได้เบิกความยืนยันว่า เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ บริษัท กว่างตงฯ ถึงเดือน ก.พ. 2555 สอดคล้องกับบัญชีการรับข้าวที่จัดทำโดยกรมการค้าต่างประเทศที่มีหนังสือขอรับข้าวครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2555 จากการไต่สวน นายรัฐนิธได้ร่วมอยู่ในขบวนการนำ บริษัท กว่างตงฯ มาทำสัญญาซื้อข้าวจากกรมการค้าต่างประเทศตามสัญญาฉบับที่ 1 และ 2 โดยมิชอบ แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาฉบับที่ 3 และ 4

ส่วนนายลิตร พอใจ (จำเลยที่ 9) นั้น บริษัท ห่ายหนานฯ มีหนังสือแจ้งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ว่า แต่งตั้งให้เป็นตัวแทนผู้รับมอบอำนาจชำระเงินและรับมอบข้าวตั้งแต่ 5 ก.ย. 2555 ก่อนจะลงนามในสัญญากับกรมการค้าต่างประเทศในวันที่ 6 ก.ย. 2555 ชี้ให้เห็นว่า ได้ร่วมอยู่ในขบวนการนำ บริษัท ห่ายหนานฯ มาทำสัญญาซื้อขายข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศตั้งแต่ต้น และได้ความด้วยว่า ในวันที่ 26 ม.ค. 2555 ได้ซื้อแคชเชียร์เช็คธนาคารไทยพาณิชย์ไปชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 1 แต่ในทางไต่สวนไม่ปรากฏว่า มีส่วนร่วมในการนำบริษัท กว่างตงฯ เข้ามาทำสัญญาฉบับที่ 1-3


- 1 ใน 3 เช็คถอนจากบัญชีโจ -
กรณีของ นายนิมล (โจ) รักดี (จำเลยที่ 15) คล้ายคลึงกัน ระบุคำขอเปิดบัญชีเงินฝากกับ ธ.กสิกรไทย และ ธ.กรุงไทย ว่า ทำงานที่ บริษัท สยามอินดิก้าฯ และมอบหมายให้นายสมคิดถอนไปซื้อแคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 1 หลายร้อยฉบับ ซึ่งการชำระค่าข้าวตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับนั้น เป็นแคชเชียร์เช็คหลายพันฉบับจากธนาคารหลายแห่งในประเทศ เฉพาะจากการเบิกถอนเงินในบัญชีของนายนิมล มีมากถึง 886 ฉบับ คิดเป็น 1 ใน 3 ของแคชเชียร์เช็คทั้งหมด อ้างเช่นกันว่า มิได้เป็นพนักงานของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ แต่มีอาชีพเป็นหยงค้าข้าว ในทางไต่สวนไม่พบหลักฐานซื้อขายข้าวหรือรายชื่อลูกค้าสักรายเดียว กลับพบว่า เปิดบัญชีออมทรัพย์ไว้หลายธนาคาร มีรายการธุรกรรมทางการเงินหลายหมื่นล้านบาท และเชื่อมโยงกับบัญชีของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ จำนวนมาก เช่น 20 ม.ค. 2555 ได้โอนเงินจาก ธ.ไทยพาณิชย์ สาขาซอยโชคชัย 4 เข้าบัญชีที่ ธ.กสิกรไทย ของ น.ส.รัตนา 4 ล้านบาท และโอนเงินไปยังบัญชี ธ.กรุงไทย ของบริษัท สยามอินดิก้าฯ 4 ล้าน และ 16 ล้านบาท เป็นต้น

พฤติการณ์รับฟังได้ว่า นายนิมลเป็นพนักงานของ บริษัท สยามอินดิก้าฯ ทำธุรกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ของบริษัท และเมื่อพิเคราะห์ช่วงเวลาที่เปิดบัญชีไว้กับธนาคาร เป็นเวลาก่อนทำสัญญาฉบับที่ 1 และ 2 เพียง 6 วัน จากนั้นได้ใช้ทำธุรกรรมชำระเงินค่าข้าวตามสัญญา จนเป็นที่รับรู้ในวงการผู้ค้าข้าว ว่า หากต้องการซื้อข้าวของรัฐ ต้องติดต่อซื้อจากนายนิมลโดยไม่ต้องมีการประมูล แสดงว่า นายนิมลมีบทบาทสำคัญและร่วมอยู่ในขบวนการมาตั้งแต่ต้น ในการนำบริษัท กว่างตงฯ และห่ายหนาน มาทำสัญญาจีทูจีกับกรมการค้าต่างประเทศ โดยแอบอ้างว่า ได้รับมอบหมายจากจีน ซึ่งไม่เป็นความจริง


TP14-3303-A

- ผิดฐานสนับสนุน -
น.ส.สุนีย์ จันทร์สกุลพร (จำเลยที่ 17) เป็นน้องชายของนายอภิชาติ ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการบริษัท สยามอินดิก้าฯ ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไป อันเป็นตำแหน่งบริหาร ย่อมต้องรู้ความเป็นมาของธุรกรรมต่าง ๆ ของบริษัทเป็นอย่างดี แม้แต่ผู้ค้าข้าวที่เป็นบุคคลภายนอกยังทราบว่า หากต้องการซื้อข้าวของรัฐต้องติดต่อนายนิมล ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้าฯ จากการไต่สวนไม่ปรากฏพยานหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในขั้นตอนการนำบริษัท กว่างตงฯ และห่ายหนาน เข้ามาทำสัญญาซื้อขายข้าวกับกรมการค้าต่างประเทศ ขณะที่ นายกฤษณะ สุระมนต์ (จำเลยที่ 18) ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เป็นพนักงานของบริษัท สยามอินดิก้าฯ จากรายการธุรกรรมที่ดำเนินการโดยนายกฤษณะระหว่างวันที่ 11 ต.ค. 2555 - 30 ม.ค. 2556 ฝากเงินเข้าบัญชี ธ.กรุงไทย ของ น.ส.เรืองวัน รวม 8 ครั้ง เป็นเงิน 138 ล้านบาท และระหว่างวันที่ 20 มิ.ย. 2556 - 13 มิ.ย. 2557 ฝากเงินเข้าบัญชี ธ.กรุงไทย ของ น.ส.รัตนา จำนวน 21 ครั้ง บางครั้งฝากด้วยยอดเงินสูงถึง 250 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 918 ล้านบาท แสดงว่า ได้รับความไว้วางใจสูง ข้อต่อสู้ที่ว่า ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัท สยามอินดิก้าฯ ตั้งแต่ปี 2553 จึงรับฟังไม่ได้

การกระทำของทั้ง 2 เป็นความผิดฐานสนับสนุนนายภูมิ, นายบุญทรง, นายมนัส, นายทิฆัมพร และนายอัครพงศ์ กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.151 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542, ม.123/1 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา ม.86 เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา ม.90

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

- ใช้เงิน บ.สิราลัย ชำระค่าข้าว -
บริษัท สิราลัย จำกัด (จำเลยที่ 20) ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2555 มีที่ตั้งสำนักงานที่เดียวกับ บริษัท สยามอินดิก้าฯ ขณะจดทะเบียนจนถึงวันที่ 3 มิ.ย. 2557 มี น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร (จำเลยที่ 21) ซึ่งเป็นบุตรของนายอภิชาติ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามแต่ผู้เดียว ได้ความจากการไต่สวนว่า เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2556 นายสมคิดได้ซื้อแคชเชียร์เช็ค ธ.ไทยพาณิชย์ 396 ล้านบาทเศษ นำไปชำระค่าข้าวให้กรมการค้าต่างประเทศ โดยเงินที่ใช้ซื้อส่วนหนึ่งเป็นเงินของ น.ส.ธันยพร ที่ถอนจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธ.ไทยพาณิชย์ 283 ล้านบาท และวันที่ 2 ธ.ค. 2556 นายสมคิดซื้อแคชเชียร์เช็คอีก 2 ฉบับ 146.5 ล้านบาท และ 142.5 ล้านบาท ตามลำดับ โดยเงินที่ถอนมาจากบัญชีของบริษัท สิราลัยฯ นำไปชำระค่าข้าวให้กรมการค้าต่างประเทศ ที่มีบริษัท ห่ายหนานฯ เป็นคู่สัญญา

แม้ว่า บริษัท สิราลัยฯ จะจดทะเบียนจัดตั้งหลังการทำสัญญาฉบับที่ 1 และ 2 แต่เงินที่ถอนจากบัญชีของบริษัท สิราลัยฯ ถูกนำไปซื้อแคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 2 ในคดีนี้ อีกส่วนถูกถอนไปชำระค่าข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับรัฐวิสาหกิจมณฑลของจีน ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช. และเมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่าง น.ส.ธันยพร กับนายอภิชาติ ซึ่งเป็นบุตรกับบิดา ประกอบความเชื่อมโยงทางธุรกรรมการเงินระหว่างกันของทั้ง 2 บริษัท เชื่อว่า บริษัท สิราลัยฯ และ น.ส.ธันยพร ทราบว่า การซื้อขายข้าวระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับรัฐวิสาหกิจมณฑลของจีนเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่ น.ส.ธันยพร ถอนเงินจากบัญชีของบริษัท สิราลัยฯ ไปซื้อแคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวให้กรมการค้าต่างประเทศ จึงเป็นความผิดฐานสนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่วนการทำสัญญาฉบับที่ 3 และ 4 ไม่ปรากฏหลักฐานว่า เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย จึงไม่มีความผิดในส่วนนี้

นอกจากนี้ ศาลได้พิพากษายกฟ้อง นายสมยศ คุณจักร, หจก.โรงสีกิจทวียโสธร, นายทวี อาจสมรรถ-หุ้นส่วนผู้จัดการ หจก.โรงสีกิจทวียโสธร และกรรมการบริษัท กิจทวียโสธร จำกัด, บริษัท กิจทวียโสธรไรซ์ จำกัด, บริษัท เค.เอ็ม.ซี.อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด, นายปกรณ์ ลีศิริกุล กรรมการบริษัท เค.เอ็ม.ซี.อินเตอร์ไรซ์ (2002) จำกัด, บริษัท เจียเม้ง จำกัด และนางประพิศ มานะธัญญา กรรมการบริษัท เจียเม้ง จำกัด

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว