บสย. เพิ่มศักยภาพ-ร่นเวลาอนุมัติสินเชื่อ! ไอทีบริการเอสเอ็มอี

09 ต.ค. 2560 | 11:53 น.
หน่วยงานของภาครัฐที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีมีอยู่หลายแห่ง โดยหนึ่งในหน่วยงานที่มีความสำคัญและถือว่าเป็น “ผู้ที่มีบทบาทอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนพลังของเอสเอ็มอี” อย่างแท้จริง คงหนีไม่พ้น “บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)” ซึ่งมีหน้าที่หลักในการเข้าไปช่วยค้ำประกันให้กับเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกัน โดยมีวงเงินจากภาครัฐคอยสนับสนุน

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า ที่ผ่านมาการดำเนินงานจะยังไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร เห็นได้จากโครงการค้ำประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี (PSG6) ที่มีวงเงินสูงถึง 100,000 ล้านบาท แต่สามารถใช้เงินในการเข้าค้ำประกันได้เพียงประมาณ 20,000 ล้านบาทเท่านั้น และมีวงเงินเหลืออยู่ 8.1 หมื่นล้านบาท จนสุดท้ายต้องมีการปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การค้ำประกัน เพื่อจูงใจให้สถาบันการเงินและเอสเอ็มอีเข้ามาใช้บริการ

ทั้งนี้ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายนิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. ถึงแนวทางการดำเนินงานและแผนในอนาคตที่จะทำให้ บสย. เข้าถึงเอสเอ็มอีได้มากยิ่งขึ้น

[caption id="attachment_216459" align="aligncenter" width="503"] นิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย. นิธิศ มนุญพร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บสย.[/caption]

- ใช้ “ไอที” เพิ่มศักยภาพบริการ -
นายนิธิศ กล่าวถึงแผนการเพิ่มศักยภาพให้กับ บสย. ว่า ในปี 2561 จะมีการดำเนินการในเชิงรุกเพื่อเข้าหาลูกค้า โดยจะมีการนำโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นช่องทางให้ลูกค้าได้รู้จัก บสย. มากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การมีบัญชีทางการ (Official Account) ของ บสย. และสติกเกอร์แนะนำให้ลูกค้าได้รู้ว่า มีหน่วยงานอย่าง บสย. ที่ให้บริการค้ำประกันสำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีที่ไม่มีหลักประกัน จากเดิมที่ บสย. จะต้องรอให้ธนาคารส่งลูกค้ามาให้ และเอสเอ็มอีบางส่วนก็ไม่รู้ว่า มีหน่วยงานอย่าง บสย. คอยให้บริการอยู่ หากธนาคารไม่ได้แนะนำให้

นอกจากนี้ ยังจะมีการพัฒนาระบบไอที ซึ่งเป็นระบบหลัก ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการว่าจ้างบริษัทเอกชนให้เข้ามาดำเนินการในเรื่องของการออกแบบธุรกิจและการทำต้นร่าง หรือ พิมพ์เขียว ของ บสย. (Blueprint) เพื่อเตรียมความพร้อมการออกแบบพัฒนาระบบค้ำประกันสินเชื่อ ซึ่งภายหลังจากที่ระบบหลักเสร็จเรียบร้อย ก็จะสามารถนำฐานข้อมูลทั้งหมดไปต่อยอดสู่ฟินเทค (Fintech) ได้ เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของกระทรวงการคลัง ที่ต้องการให้รัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFI) นำฟินเทคมาใช้ในการให้บริการ

“คนธรรมดา หรือ เอสเอ็มอีทุกคน จะต้องมีการใช้สมาร์ทโฟน เพราะฉะนั้น บสย. จะต้องป้อนอะไรให้ลูกค้าได้เห็น โดยนำแนวคิดของแอพพลิเคชันที่ติดตลาด หรือ แนวคิดในเชิงพาณิชย์มาใช้ เชื่อว่า ลูกค้าน่าจะเข้าถึงหากเราทำฟินเทคให้ดีและนำแอพพลิเคชันเข้ามาใช้ โดยเมื่อเรามีแอพของ บสย. การให้บริการทุกอย่างก็จะสามารถทำบนสมาร์ทโฟนได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการเช็กยอดอนุมัติ, เช็กยอดหนี้ หรือ ส่งคำขอออนไลน์ ก็เพียงแค่แนบไฟล์มา จากเดิมที่ลูกค้าจะต้องไปธนาคารเพื่อส่งเอกสาร หลังจากนั้น เราก็จะส่งต่อให้ธนาคาร เพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้า”


บาร์ไลน์ฐาน


- อนุมัติไว ได้เงินเร็ว -
นายนิธิศ กล่าวอีกว่า การปรับกลยุทธ์ใหม่ของ บสย. เป็นเสมือนแนวทางที่หน่วยงานแบบ บสย. ในต่างประเทศดำเนินการอยู่ ซึ่งแทนที่ลูกค้าจะไปธนาคารก็ให้มาที่ บสย. ก่อน โดย บสย. จะเป็นฝ่ายคัดกรองลูกค้าส่งให้กับธนาคาร ซึ่งธนาคารก็จะได้รับลูกค้าที่ดี อย่างไรก็ดี ลูกค้าบางส่วนก็จะรับมาจากธนาคารด้วย เพียงแต่กลุ่มลูกค้าที่มา บสย. ก่อน อาจจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่า โดยมุ่งหวังให้เอสเอ็มอีได้ใช้ บสย. ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีอำนาจในการต่อรองกับธนาคารได้

ล่าสุด บสย. ได้เพิ่มนวัตกรรมในการให้บริการ เพื่อปูทางไปสู่การเป็นอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการทำหนังสือค้ำประกันแบบออนไลน์ (LG) จากเดิมที่จะต้องปรินต์ออกมาเป็นกระดาษก่อนและนำไปให้ผู้มีอำนาจเซ็น ก่อนส่งให้กับธนาคาร แต่รูปแบบใหม่จะสามารถเซ็นผ่านสมาร์ทโฟนได้เลย ซึ่งเมื่อมีการอนุมัติค้ำประกันเรียบร้อย เราก็ส่งไฟล์ที่มีลายเซ็นไปไว้บนระบบจัดเก็บ หรือ คราวด์ (Cloud) ของแต่ละธนาคาร เพื่อให้ธนาคารได้นำไฟล์ดังกล่าวไปใช้ในการประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี

ปัจจุบัน บสย. ได้มีการหารือกับธนาคารทุกแห่งเรียบร้อยแล้ว และระบบทุกอย่างก็มีความพร้อม ขณะที่ บสย. เอง ก็เพิ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 27001:2013 (มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ) ทำให้ธนาคารมั่นใจได้ว่า ระบบของ บสย. มีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด และกล้าที่จะเปิดให้บริการร่วมกัน โดยการให้บริการดังกล่าวจะช่วยให้เอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อเร็วขึ้น จากที่ธนาคารได้รับหลักประกันที่รวดเร็ว เพิ่มความสะดวกสบายให้กับทั้ง 2 ฝ่าย นอกจากนี้ ยังจะริเริ่มการนำระบบการให้คะแนนเครดิต (Credit Score) มาใช้กับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมตามความเสี่ยงของลูกค้ากับบางผลิตภัณฑ์ที่จะออกในปีหน้า เพื่อให้เป็นหลักสากล

“ขณะนี้ บสย. จะคิดค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเท่ากันหมด ซึ่งไม่ใช่การดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักสากล โดยการนำระบบการให้คะแนนเครดิตมาใช้ จะทำให้ลูกค้าที่มีความเสี่ยงมากต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการค้ำประกันมากกว่ารายที่มีความเสี่ยงน้อย เพื่อสอดรับกับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้สถาบันการเงินมีการกำกับดูแลความเสี่ยงให้ดี ไม่ใช่เข้าไปค้ำประกันแล้วปล่อยปละละเลย ซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดหนี้เสียจำนวนมาก และรัฐบาลก็ต้องจ่ายชดเชยมากตามไปด้วย โดยเรากำลังจะทำเรื่องขออนุมัติจากบอร์ดภายในเดือน ก.ย. เพื่อของบประมาณในการดำเนินการในปีหน้า”
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

- เชื่อ PSG6 หมดไตรมาส 1/61 -
นายนิธิศ กล่าวต่อไปอีกว่า ตั้งแต่มีการปรับเงื่อนไขในการค้ำประกันมาตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. จนถึงสิ้นสุดเดือน ส.ค. 2560 บสย. สามารถเข้าไปค้ำประกันเพิ่มเติมได้อีก 2.3 พันล้านบาท โดยมองว่า เป็นช่วงระยะเวลาเริ่มต้น ยอดจึงยังมีไม่มากนัก แต่เชื่อว่า จนถึงสิ้นปีน่าจะสามารถเข้าไปค้ำประกันได้ประมาณ 60,000 ล้านบาท และภายในไตรมาส 1/61 น่าจะเข้าไปค้ำประกันได้ทั้งหมดของวงเงินที่เหลือของงบประมาณดังกล่าว

สำหรับวงเงินดังกล่าว คาดว่า น่าจะช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณ 2.7 หมื่นราย น่าจะก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบได้ประมาณ 1.36 แสนล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานได้ประมาณ 100,000 ราย และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท ซึ่งการดำเนินการจะผ่านระบบสถาบันการเงินทั้ง 18 แห่งที่ร่วมโครงการ โดยต่อรายน่าจะได้รับวงเงินสินเชื่อเฉลี่ยประมาณ 2-3 ล้านบาท หากเป็นรายย่อยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,000,000 บาท ขณะที่ รายใหญ่สูงสุดน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40 ล้านบาท

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว